นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มั่นใจปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงครึ่งปีหลัง จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากมีปริมาณสำรองไว้ใช้อย่างเพียงพอ โดยสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออก ล่าสุดวันที่ 7 ส.ค.66 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดระยอง 3 อ่าง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อยู่ที่ 164.94 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 59.92% เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดแล้ว ยังสามารถบริหารจัดการได้แบบไม่สะดุด เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างมีเพียงพอ อีกทั้งช่วงที่ผ่านมามีฝนตกบ่อยครั้ง ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอดูสถานการณ์ในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย.66 ต่อไป หากยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลให้สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำจังหวัดชลบุรี 2 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำบางพระ และอ่างเก็บน้ำหนองค้อนั้น มีปริมาณน้ำรวม 58.58 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 42.33%
นายวีริศ กล่าวว่า กนอ.ได้จัดหาแหล่งน้ำสำรอง เพื่อเตรียมไว้สำหรับใช้ในนิคมอุตสาหกรรม โดยหารือร่วมกับภาคเอกชนวางแผนรับมือภัยแล้งในพื้นที่อีอีซี โดยแหล่งน้ำหลักที่ได้รับการจัดสรรจากกรมชลประทาน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำบางพระ รวมถึงแหล่งน้ำที่สูบใช้ได้ในแต่ละปีมีปริมาณน้ำต้นทุนเป็นปริมาณน้ำท่าตามฤดูกาล ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำระยอง คลองทับมา และแหล่งน้ำเอกชน
นอกจากนี้ ยังมีแหล่งน้ำสำรองเพื่อใช้ในกรณีน้ำในแหล่งน้ำมีน้อย และเกิดการขาดแคลนน้ำ ได้แก่ สระสำรองน้ำดิบสำนักบก สระสำรองน้ำดิบฉะเชิงเทรา และสระสำรองน้ำดิบทับมา
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมีปริมาณการใช้น้ำต่อวันอยู่ที่ประมาณ 100,000-125,000 ลูกบาศก์เมตร คาดการณ์ปริมาณการใช้น้ำตลอดทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 84 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้น้ำดิบจากหลายๆ แหล่ง ได้แก่ แหล่งน้ำของ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) , สระพักน้ำของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด, แหล่งน้ำจากคลองน้ำหู-ทับมา และแหล่งน้ำจากบริษัท วาย.เอส เอส.พี.แอกกริเกต จำกัด
ส่วนข้อกังวลในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้ให้บริการจ่ายน้ำดิบจาก EASTW ไปเป็นบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ที่ขณะนี้การวางท่อส่งจ่ายน้ำดิบในพื้นที่ทับซ้อนยังไม่แล้วเสร็จนั้น ผู้ว่าฯ กนอ. ยังมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดอย่างแน่นอน โดย กนอ.มีการสำรองน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ ไว้แล้ว
ขณะเดียวกัน ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายน้ำดิบกับ บริษัท วาย.เอส.เอส.พี. แอกกริเกต จำกัด เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการน้ำในภาคอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งน้ำที่ทางบริษัทฯ จัดหามาจากแหล่งน้ำแห่งใหม่ คือ คลองทับมา จึงไม่ใช่การแย่งน้ำจากภาคการเกษตร หรือการท่องเที่ยวแต่อย่างใด แต่เป็นการดึงน้ำจากจุดที่น้ำเหลือใช้ก่อนไหลลงทะเล และแน่นอนว่าในขั้นตอนการขออนุญาตใช้น้ำจากกรมเจ้าท่านั้น ได้มีการกำหนดเงื่อนไขไว้อยู่แล้วว่าจะต้องไม่กระทบกับชุมชน และระบบนิเวศวิทยา ก่อนที่จะอนุญาตให้ใช้น้ำดังกล่าวได้
“ยืนยันว่า ไม่มีปัญหาเรื่องการจ่ายน้ำในพื้นที่นิคมฯ มาบตาพุดแน่นอน เพราะเราหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งไว้แล้ว ซึ่งปีนี้สถานการณ์น้ำแล้งไม่รุนแรง ยังมีฝนตกหลายพื้นที่ จึงส่งผลให้น้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก ยังเพียงพอต่อการใช้ภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยคาดว่าจะสามารถใช้ได้จนถึงช่วงกลางปีหน้า นอกจากนี้ทางบริษัทฯ ยังแจ้งด้วยว่า ในการประชุมร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำนั้น ได้มีการชี้แจงเกี่ยวกับเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ประกอบการอนุญาตแล้ว และมีเอกสารหลักฐานยืนยันถึงการได้รับอนุญาตให้ใช้น้ำที่ถูกต้อง ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าน้ำสำรองที่ กนอ.ได้รับมานั้นเป็นน้ำที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” นายวีริศ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ส.ค. 66)
Tags: กนอ., นิคมอุตสาหกรรม, วีริศ อัมระปาล, เอลนีโญ