รัฐบาลแจงปรับเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุให้งบใช้เกิดประโยชน์สูงสุด

รัชดา ธนาดิเรก

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรณีที่กระทรวงมหาดไทยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ และได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ส.ค.66 ซึ่งมีสาระหลักเพิ่มเติม คือ กำหนดให้เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะกำหนดไว้ในกฏหมายว่าด้วยผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงต้องมีการออกระเบียบกำหนดรายละเอียดจากนี้อีกโดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพอยู่ก่อนวันที่ระเบียบใช้บังคับจะยังมีสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป

การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ได้มาจากรัฐบาลไม่มีความสามารถในการหาเงิน เพราะทึ่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น รัฐบาลจัดเก็บรายได้เพิ่มมากขึ้น มีการจดทะเบียนการค้าบริษัทต่างชาติ การขอส่งเสริมการลงทุนต่างชาติเพิ่มต่อเนื่อง มีตัวชี้วัดความสามารถจัดหารายได้ ดูจากตัวเลขการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร 7 เดือนของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-เม.ย.66) เก็บรายได้สูงกว่าปีก่อน 6.5% สูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 107,101 ล้านบาท หรือ 11.10% ขณะที่ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2566 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.4% และสูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 8.9%

ขณะที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ได้ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของประชาชนตามที่มีกรกล่าวหา โดยมุ่งแก้ปัญหาของประชาชนอย่างตรงเป้า ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ ขณะที่ประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง งบประมาณจากเคยตั้งไว้ 50,000 ล้านบาท/ปี เพิ่มเป็น 80,000 ล้านบาท/ปี และจะแตะ 90,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2567 ดังนั้นหากลดการจ่ายเบี้ยฯ แก่ผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เพราะงบประมาณที่จ่ายให้ไปอาจจะไม่มีความจำเป็น ถือเป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า อีกทั้งเป็นการสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ส.ค. 66)

Tags: , ,