ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงมากกว่าตลาดอื่นในภูมิภาคตั้งแต่ต้นปี 66 หนึ่งในปัจจัยลบ คือ ปัจจัยการเมืองฉุดให้ดัชนี SET ปรับตัวลงทำให้หุ้นหลายตัวปรับตัวลงมาอยู่ในโซนต่ำ แต่ปัจจัยพื้นฐานก็ยังดีอยู่ และแนวโน้มครึ่งปีหลังมีหุ้นหลายตัวเข้าสู่หน้าไฮซีซั่น ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังก็คาดว่าจะทยอยฟื้นตัว และหากมีรัฐบาลใหม่เข้ามาชัดเจน ก็จะหนุน Sentiment ตลาดกลับมาเป็นบวก
ดังนั้น จึงเห็นว่าช่วงนี้เป็นจังหวะลงทุนหุ้นถูกพื้นฐานแน่น “อินโฟเควสท์”รวบรวมมาดังนี้
นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า หลังจากที่ดัชนี SET ปรับตัวลงมาที่ระดับ 1,500 จุด และหุ้นไทยถูกนักลงทุนต่างชาติขายออกมาค่อนข้างมาก มองว่าหุ้นที่ราคาเหมาะสมที่ราคามีการพักตัวลงมา และมีพื้นฐานดีส่วนใหญ่ยังมองว่าเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่ยังมีความแข็งแกร่งของธุรกิจและผลการดำเนินงาน และเป็นโอกาสที่นักลงทุนสามารถทยอยซื้อสะสมได้ ยกตัวอย่าง เช่น
KBANK – หุ้นแบงก์ที่ยังได้ปัจจัยหนุนจากดอกเบี้ยขาขึ้น โดยเฉพาะหุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่ราคาหุ้นมีการพักตัวลงมาบริเวณ 120-125 บาท/หุ้น แต่ในแง่ของผลบวกจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังมีผลต่อรายได้จากดอกเบี้ยและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ในครึ่งปีหลังที่ยังเห็นการขยับตัวขึ้น จากการส่งผ่านดอกเบี้ยได้ต่อในช่วงครึ่งปีหลัง และมองว่าปัจจัยกดดันจากลูกหนี้บริษัทรายใหญ่รายหนึ่งที่เป็นแรงกดดันกับ KBANK ในช่วงที่ผ่านมาจะเริ่มคลี่คลายลงในช่วงครึ่งปีหลัง อีกทั้งในส่วนของสินเชื่อคาดว่าจะเห็นการเติบโตตามที่คาดไว้ราว 5% และยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 66 เติบโต 15% จากปีก่อน และให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 150 บาท/หุ้น
CPALL – หุ้นที่รับอานิสงส์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการบริโภค ซึ่งในกลุ่มนี้หุ้นที่มีราคาพักตัวลงมาในช่วงที่ผ่านมาที่เห็นได้ชัด คือ หุ้นบมจ.ซีพีออลล์ (CPALL) ที่ราคาปรับตัวลงมา แม้ว่าในส่วนของผลการดำเนินงานที่มาจาก CPALL เองยังดี แต่โดนแรงกดดันจาก CPAXT ที่ผลการดำเนินงานฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดที่เข้ามากระทบ แต่หากมองไปที่ร้าน 7-Eleven ของ CPALL ยังเห็นยอดขายที่เติบโต และเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดที่ครองมาร์เก็ตแชร์มากที่สุด อีกทั้งจะได้รับแรงหนุนจากซีซั่นของการท่องเที่ยวและช่วงเทศกาล รวมถึงการกระตุ้นของเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เข้ามาเป็นแรงส่ง โดยให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 77 บาท/หุ้น
BEM – การท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาคึกคัก หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางของคนจะได้รับปัจจัยบวกไปด้วย ซึ่งมองว่าหุ้นบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM )เป็นอีกหนึ่งหุ้นที่มีราคาที่น่าสนใจ และราคาหุ้นยังแกว่งตัวในช่วง 8-9 บาท ซึ่งจะเห็นว่าปัจจุบันการใช้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินเป็นจำนวนมาก รวมถึงจำนวนรถยนต์ที่ใช้บริการทางด่วนยังมีจำนวนมากเช่นเดียวกัน จากการกลับมาเดินทางไปทำงาน ไปเรียน และท่องเที่ยวของคน ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มจะเป็นปัจจัยหนุนให้กับ BEM รวมถึงยังมีอัพไซด์ในอนาคตอีกค่อนข้างมากจากส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) และการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายที่ 14 บาท/หุ้น
SCGP – หุ้นที่ได้รับประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และราคาหุ้นปรับลงมาค่อนข้างมาก คือบมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) หากมองไปในไตรมาส 3/66 จะมีแรงหนุนปริมาณการขายของ SCGP จากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นทั้งในอาเซียน และประเทศจีน และไตรมาส 3/66 จะเป็นช่วงไฮซีซันของบรรจุภัณฑ์ ทำให้ราคากระดาษบรรจุภัณฑ์น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น และต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานได้ปรับตัวเข้าสู่ระดับที่สมดุล อีกทั้งหาก SCGP มีดีลการลงทุนใหม่ๆที่ดีในช่วงครึ่งปีหลัง ก็ยังมีโอกาสทำให้ราคามีอัพไซด์ให้กับราคาหุ้นได้ โดยให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายที่ 56 บาท/หุ้น
LH – หุ้นที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงและพื้นฐานดี แต่ราคาพักตัวลงมา คือ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) ที่ถือเป็นหุ้นที่ให้เงินปันผลที่ดีมาต่อเนื่อง 6-7% ต่อปี แต่อาจจะมีแรงกดดันจากภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวลงมาบ้าง จากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่ LH ถือว่ามีการกระจายธุรกิจที่หลากหลาย โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและธุรกิจศูนย์การค้า แต่ทั้ง 2 ธุรกิจอาจจะชะลอตัวไปบ้างในช่วงไตรมาส 2/66 และไตรมาส 3/66 จากช่วงโลว์ซีซั่นของการท่องเที่ยว แต่คาดว่าจะกลับมาฟื้นขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3/66 ต่อเนื่องไปถึงต้นปี 67
อีกทั้งในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะเห็นการเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ของ LH เข้ามาช่วยสร้างยอดขายและเพิ่ม Backlog รวมทั้งการขาย และการขาย 2 โรงแรมที่พัทยาเข้ากอง LHHOTEL ที่คาดว่าจะบันทึกกำไรพิเศษเข้ามาในช่วงไตรมาส 4/66 ทำให้ผลงานในไตรมาส 4/66 เป็นไตรมาสที่แข็งแกร่งที่สุด โดยให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 10 บาท/หุ้น
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)กล่าวว่าหุ้นที่เห็นว่าราคาปรับตัวลงมาในโซนที่น่าสนใจ และมีปัจจัยพื้นฐานดีอยู่ มี 4 หุ้น
KBANK – ราคาหุ้นปรับฐานลงมามาก โดยราคาลงมา 14% (Year to date) กลุ่มแบงก์เคลื่อนไหวแดนบวกจากโอกาสที่มีการจัดตั้งรัฐบาลชัดเจนข้น กลุ่มแบงก์ได้รับแรงหนุนจากเงินทุนต่างชาติ โดย KBANK ยัง Laggard ที่สุด ราคาเป้าหมาย 167 บาท
GUNKUL – ราคาหุ้นปรับตัวลงมาถึง 37% (Year to date) โดยหากจัดตั้งรัฐบาลได้ แผนการดำเนินงานพลังงานหมุนเวียน 5,300 เมกะวัตต์ ก็จะเดินหน้าได้แน่นอน ซึ่งบมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่จะได้รับประโยชน์ และ Sentiment บวก ให้ราคาเหมาะสมที่ 5.25 บาท
BANPU – ราคาหุ้นปรับลงมา 30% (Year to date) ทำให้ P/E ค่อนข้างต่ำ ปีนี้อยู่ที่ 7 เท่า โดยมองว่า บมจ.บ้านปู (BANPU) จะได้รับแรงหนุนในครึ่งปีหลังที่มีการใช้ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นจากเข้าสู่ฤดูหนาว และการนำบริษัท BKV Corporation (BKV) ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจ shale gas ในสหรัฐ เข้าจดทะเบียนใน New York Stock Exchange ให้ราคาเป้าหมาย 10.00 บาท
GPSC – ราคาหุ้นปรับลงมา 28% (Year to date) มองทิศทางธุรกิจของ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ในช่วงครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งจะกลับมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอีกครั้ง หลังครึ่งปีแรกหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้า และต้นทุนก็ลดลงด้วย ให้ราคาเป้าหมาย 75 บาท
นายกิตติ บัวบึง ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ได้มีการค้นหาจากราคา P/E เงินปันผล ที่มีมุลค่าตลาดเกิน 1 หมื่นล้านบาท ในช่วงนี้ มี 3 หุ้น ได้แก่
TU – บมจ.ไทยยูเนี่ยน มองภาพรวมครึ่งปีหลังมีโกาสต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวลง และน่าจะผ่านจุดต่ำสุดแฃ้ว ราคาขายก็มีโอกาสปรับขึ้นได้ TU รับผลกระทบจากภาพรวมส่งออกลดลง แต่ตัวธุรกิจ TU กระทบน้อยกว่า และการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน ให้ราคาเหมาะสม 15.80 บาท
COM7 – บมจ.คอมเซเว่น จาก Boomberg Consensus ให้ราคาเฉลี่ย 37.22 บาท จากราคาตลาด 28 บาท ยังมีอัพไซด์กว่า 30% โดยในไตรมาส 2/66 มีกำไรสุทธิ 704 ล้านบาท ลดลง 19% YoY เพราะปีก่อนมีดีมานด์จาก WFH แต่ถ้าเทียบ QoQ เพิ่มขึ้น 13.6% ภาพรวมธุรกิจของ COM7 ยังเติบโต ตามดีมานด์ที่รับเศรษฐกิจฟื้นตัว และ บริษัทมีแผนขยายสาขาปี 66 เป็น 1,400 สาขา โดยปัจจุบันมี 1,287 สาขา การขยายสาขาก็จะช่วยเพิ่มรายได้ในครึ่งปีหลัง อีกทั้งในปลายไตรมาส 3/66 ก็จะมีการเปิดตัวไอโฟน รุ่นใหม่
TTB – ธนาคารทหารไทยธนชาต ให้ราคาเป้าหมาย 1.90 บาท มองว่ากลุ่มธนาคารจะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น และยังคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง สิ้นปี 66 ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.50% ซึ่งทำให้กลุ่มแบงก์ได้รับประโยชน์ และส่งให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) สูงขึ้น ขณะที่สินเชื่อน่าจะโตจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ความต้องการสินเชื่อจะสูงขึ้น และในไตรมาส 2/66 สินเชื่อโต 6% YoY และ โต 32% QoQ ทำให้ฟิลลิปฯปรับคำแนะนำจาก”ทยอยซื้อ” เป็น “ซื้อ”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ส.ค. 66)
Tags: ZoomIn, ตลาดหุ้นไทย, หุ้นไทย