สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ดัชนีธนาคารยูโรโซนปรับตัวลดลงมากถึง 3.4% ในวันนี้ (8 ส.ค.) หลังจากอิตาลีอนุมัติเก็บภาษีลาภลอย 40% จากธนาคารในปี 2566 ซึ่งสร้างความวิตกไปทั่วภาคธนาคารที่ได้รับผลกำไรแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกพุ่งขึ้น
รายงานระบุว่า ดัชนีธนาคารยูโรโซนปรับตัวลดลงมากที่สุดรายวัน นับตั้งแต่เกิดความวุ่นวายในภาคการธนาคารในเดือนมี.ค. เมื่อธนาคารเครดิต สวิสล้ม
เมื่อเวลา 15.02 น.ของวันนี้ตามเวลาไทย ดัชนีธนาคารยูโรโซนลดช่วงลบเล็กน้อย แต่ยังคงลดลง 2.2% ซึ่งย่ำแย่กว่าดัชนีธนาคารยุโรปในวงกว้างที่ลดลง 1.4% และดัชนี STOXX 600 ซึ่งลดลงเพียง 0.1%
หุ้นกลุ่มธนาคารอิตาลีนำกลุ่มธนาคารยุโรปร่วง โดยหุ้นธนาคารบีเพอร์ บังกา (BPER Banca) ลบ 7.8% ขณะที่ธนาคาร อินเตซาซานเปาโล (Intesa Sanpaolo) ลบ 6.8% และหุ้นธนาคารฟิเนโกแบงก์ บังกา ฟิเนโก (FinecoBank Banca Fineco) ลบ 7.4%
นายสจวร์ต โคล (Stuart Cole) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์มหภาคของอีควิตี้ แคปิตัล (Equiti Capital) กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่อิตาลีเรียกเก็บภาษีจากผลกำไรส่วนเกินของธนาคาร และมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความกังวลว่าประเทศอื่น ๆ อาจทำตาม”
ทั้งนี้ เฉพาะในปี 2566 อิตาลีจะเก็บภาษี 40% ของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin) ของธนาคาร ซึ่งเป็นมาตรวัดกำไรของธนาคารที่มาจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก โดยแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดระบุว่า รัฐบาลอิตาลีคาดว่าจะเก็บเงินได้น้อยกว่า 3 พันล้านยูโร (3.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากมาตรการดังกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ส.ค. 66)
Tags: ธนาคารยูโรโซน, ภาษีลาภลอย, อิตาลี