ตลท.-ก.ล.ต.หนุนฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกร้องรับเยียวยาถอดบทเรียน STARK เร่งออกมาตรการล้อมคอก

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา “การดำเนินคดีแบบ Class Action” เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action ให้แก่ผู้ที่สนใจและผู้ลงทุน และเพื่อสนับสนุนผู้ที่ได้รับความเสียหายในตลาดทุนจากการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ได้รับการคุ้มครองและมีช่องทางการเยียวยาความเสียหาย

ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบกลุ่มเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้รู้แก่ผู้ลงทุนและผู้สนใจในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การดำเนินคดีแบบกลุ่มมีผลบังคับใช้ ในปี 2558 รวมทั้งการจัดสัมมนาโดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ลงทุนเป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่และบทบาทของ ก.ล.ต. ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน

นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า งานเสวนา การดำเนินคดีแบบ Class Action จะช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ลงทุนและผู้ที่สนใจเกี่ยวกับขั้นตอน และกระบวนการในการดำเนินคดีแบบกลุ่มตั้งแต่เริ่มต้นจนจบคดี ซึ่งการดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะคุ้มครองผู้ลงทุนให้ได้รับการเยียวยาความเสียหายอย่างเป็นรูปธรรม

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ สายงานกฎหมาย ตลท. กล่าวว่า “‘Class Action’ ถือเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะช่วยเยียวยาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ลงทุนหรือผู้ถือหุ้น ซึ่งได้รับความเสียหายจากการลงทุนในหลักทรัพย์ ดังนั้น งานเสวนา ‘การดำเนินคดีแบบ Class Action’ ในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่จะนำเรื่อง Class Action ขึ้นมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้และความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับ Class Action ของทุกภาคส่วน

*ตลท.-ก.ล.ต.เล็งออกมาตรการเรียกความเชื่อมั่น

นายรองรักษ์ กล่าวว่ ในเร็วๆนี้ ตลท.และ ก.ล.ต.จะออกมาตการเพื่อเรียกความเชื่อมั่นผู้ลงทุน โดยที่ผ่านมา 2 องค์กรได้มีการหารือประชุมกันแล้ว เราเข้าใจปัญหาแล้ว หลังจากนี้เราจะมีการกำหนดมาตรการ ซึ่งกำลังพูดคุยกันระหว่างกัน 2 องค์กร ทั้งการปรับปรุงกฎเกณฑ์ อาทิ การเข้มงวดกับการ Backdoor Listing นอกจากนี้ จะมีมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม มีเครื่องมือที่นักลงทุนใช้ดูแลตัวเอง โดยเป็นการถอดบทเรียนจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น(STARK) และเห็นแล้วว่าจะต้องทำอะไรเพิ่มบ้าง อย่างไรก็ตาม ก็ยอมรับว่าคนที่คิดจะโกงเขาก็พัฒนาเหมือนกัน

“เรากำลังคุยกันให้ได้ตกผลึก อย่างน้อยให้ 2 องค์กร ได้คุยกันแล้วแถลงออกมา ให้ Public เข้าใจ”

นอกจากนี้ ตลท.ยังให้ความรู้ต่อนักลงทุนมากขึ้น ส่วนบริษัทจดทะเบียนที่น่าสงสัย ตลาดฯก็จะให้บจ.ชี้แจง เพื่อให้ข้อมูลกับนักลงงทุนในการตัดสินใจ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลท. Active มากขึ้น หรืออย่างหุ้น IPO เราไม่ได้บอกว่าผิดหรือถูก แต่เราให้ข้อมูล ที่เห็นว่าการซื้อขายหุ้น IPO มีกลุ่มคนเข้ามาซื้อขายที่อาจจะไม่ปกติ เราก็บอกผู้ลงทุน

อย่างไรก็ตาม ตลท.ระมัดระวังการทำหน้าที่ เพราะการส่งสัญญาณใด ๆ ออกไปมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ และมีผลต่อราคา ทั้งนี้ ตลท.ก็ไม่ต้องการให้มีการบิดเบือนราคาจากความเป็นจริง

“โจทย์ของเรา จะเอานักลงทุนมาเป็นตัวตั้งแล้ว ทำอย่างไรให้ผู้ลงทุนได้มีกลไกดูแลตัวเอง มีข้อมูลที่ใช้ตัดสินใจการลงทุน นั่นคือหน้าที่เรา”รองผู้จัดการ สายงานกฎหมาย ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าว

*คดีฟ้องแบบกลุ่มมุ่งรับการเยียวยา

นายจิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สภาองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ในการฟ้องคดีแบบกลุ่มสิ่งที่สำคัญต่อการชนะคดีได้แก่ 1.โจทก์ที่เป็นตัวแทน รวมถึงพยานหลักฐานรวมถึงเอกสารที่นำสืบได้ 2.ทนาย ที่มีความเข้าใจในคดีตลาดทุน 3.การวางยุทธศาสตร์ มุ่งสู่การชนะคดีแบบที่ได้รับการเยียวยาให้ผู้เสียหาย ไม่ใช่ชนะแบบได้กระดาษเปล่า และ4. เวลาต้องไม่ช้าเกินไป

โดยการวางแผนยุทธศาสตร์มีส่วนสำคัญมาก มีการวางแผนกันมามาก ที่ผ่านมาตนมีการประชุมหารือวางแผนอย่างมาก เพื่อชนะและเรียกค่าเยียวยามาให้ได้ โดยให้เลือกฟ้องจำเลยคนที่มีโอกาสได้เงินจากเขาคืน ซึ่งบางครั้งถ้าฟ้องจำเลยมากเกินไปอาจไม่ใช่ผลดี

ขณะที่ทนายมีส่วนสำคัญในการยื่นคำร้องในการดำเนินคดีแบบกลุ่มที่จะให้ศาลพิพากษาในหลักการที่จะมีกำหนดคำนิยามกลุ่มผู้เสียหาย ต่อมาศาลจะนัดไต่สวนคำร้องไม่เกิน 45 วัน หากศาลเห็นความเสียหายจำนวนมากรายศาลก็มีแนวโน้มเร่งการดำเนินคดี จากนั้นศาลจะกำหนดนัดแรก ไกล่เกลี่ย กำหนดประเด็น วันสืบพยาน โดยคำพิพากษาของศาลเป็นหลักการครอบคลุมสมาชิกของกลุ่ม แล้วยื่นขอรับการเยียวยา แต่หากศาลไม่รับการฟ้องแบบเป็นกลุ่ม ก็ฟ้องได้เฉพาะโจทก์รายคน ที่ยังมีเวลา 60 วันที่ยื่นฟ้องได้ซึ่งเท่ากับเป็นคดีแพ่งสามัญระยะเวลาการดำเนินการปกติใช้เวลา 1-1 ปีครึ่ง แต่ในช่วงเกิดโควิดใช้เวลามาก 2-3 ปี

ทั้งนี้ ย้ำว่าเงื่อนไขคดีแบบกลุ่มกฎหมายระบุว่าต้องมีผู้เสียหายจำนวนมาก แต่ไม่ได้ระบุจำนวน แต่ดูความเสียหายหรือขึ้นกับดุลยพินิจของทนายที่เห็นว่ามีจำนวนมากแล้ว

นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอทธรณ์ภาค 1 กล่าวว่า โอกาสการชนะคดีฟ้องแบบกลุ่ม (Class Action) ขึ้นกับข้อมูลที่ครบถ้วน ความเสียหาย ซึ่งส่วนนี้ที่ปรึกษากฎหมาย มีความสำคัญ โดยจะต้องเป็นข้อมูลที่แสดงให้ศาลเห็นว่าความเสียหาย นอกจากนี้ การกำหนดขอบเขตสมาชิกกลุ่มมีเงื่อนไขอย่างคดีหลักทรัพย์ ต้องมีระยะเวลา สถานที่ ที่มีจุดเริ่มต้น และสิ้นสุด อย่างเช่น จุดเริ่มต้นการใช้ข้อมูลอินไซเดอร์ และความจริงที่ถูกเปิดเผยเมื่อไร ที่ต้องมีข้อมูลที่จะทำให้ศาลเชื่อหรือไม่เชื่อ

ทั้งนี้ เห็นว่าการฟ้องคดีแบบกลุ่ม มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เป็นการเพิ่มเครื่องมือให้กับผู้เสียหาย และในกฎหมายไทยก็มีการให้เงินรางวัลให้ทนาย โดยเรียกจากจำเลยอีกก้อน โดยการฟ้องร้องแบบกลุ่ม ก็เป็นกลไกสกัดคนที่ไม่สุจริตให้หมดไป

นายภูมิศิริ ดำรงวุฒิ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การฟ้องคดีแบบกลุ่มเป็นการเพิ่มโอกาสชนะมากขึ้นในการเอาผิดผู้กระทำผิดและได้รับการเยียวยา หรือชดใช้ค่าเสียหาย ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ จากปัจจุบันที่มีกระบวนการเอาผิดผู้บริหาร หรือกรรมการ เพียงไม่ให้นั่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทอื่น หรือ มีการจ่ายค่าปรับ แต่ก็ยังสามารถไปนั่งในบริษัทอื่นได้ ในขณะที่ต่างประเทศมีกลไกที่เข้มแข็งที่ไม่ให้โอกาสคนที่ทำผิดกลับมาได้ หรือทำให้บริษัทจดทะเบียนไม่ทำผิดกฎหมาย ก็จะไม่เกิดผลกระทบหรือเสียหายต่อนักลงทุน ตลาดก็จะไม่เสียหาย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ส.ค. 66)

Tags: , , , , , , , , , ,