ชาวยูเครนในพื้นที่ถูกยึด โดนบังคับถือสัญชาติรัสเซีย หากต่อต้านจะถูกลงโทษรุนแรง

มหาวิทยาลัยเยล ของสหรัฐ เผยแพร่รายงานการวิจัยเมื่อวันพุธ (2 ส.ค.) ระบุว่า ประชากรชาวยูเครนที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่ถูกรัสเซียยึดครองได้ถูกบังคับให้เปลี่ยนไปถือสัญชาติรัสเซีย มิฉะนั้นจะต้องเผชิญกับการถูกลงโทษอย่างรุนแรงเป็นการตอบโต้ รวมถึงการถูกเนรเทศหรือการถูกคุมขัง

บรรดานักวิจัยของมหาวิทยาลัยเยลกล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของรัสเซียเพื่อบังคับใช้อำนาจเหนือชาวยูเครน โดยประชาชนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคลูฮันสค์ เคอร์ซอน โดเนตส์ค และซาโปริซเซีย กำลังตกเป็นเป้าหมายของความพยายามอย่างเป็นระบบในการลบล้างอัตลักษณ์ของยูเครน

รายงานของมหาวิทยาลัยเยลระบุว่า กฤษฎีกาหลายฉบับที่ลงนามโดยนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้บังคับให้ชาวยูเครนทำหนังสือเดินทางของรัสเซีย ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายมุนษยธรรมระหว่างประเทศ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัสเซียได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามในยูเครนมาโดยตลอด โดยระบุว่ากองกำลังที่เข้าร่วม “ปฏิบัติการพิเศษทางหาร” ในยูเครนมีจุดประสงค์เพื่อ “ปลดแอกนาซี” จากยูเครนและเพื่อปกป้องรัสเซีย

นายมิคาอิล มิชูสติน นายกรัฐมนตรีรัสเซียเปิดเผยเมื่อเดือนพ.ค.ว่า รัสเซียได้มอบหนังสือเดินทางให้กับประชาชนเกือบ 1.5 ล้านคนในพื้นที่ที่ผนวกเข้ากับรัสเซีย ในภูมิภาคโดเนตสค์ ลูฮันสค์ ซาโปริซเซีย และเคอร์ซอนของยูเครน ตั้งแต่เมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว

รายงานระบุว่า ชาวยูเครนในดินแดนที่ถูกยึดครองที่ไม่ได้ขอสัญชาติรัสเซียนั้น “ตกอยู่ภายใต้การคุกคาม การข่มขู่ การจำกัดการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม และความต้องการพื้นฐาน และอาจถูกคุมขัง หรือถูกเนรเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนเหล่านี้กลายเป็นพลเมืองรัสเซีย”

“เรื่องที่เรากำลังกังวลก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการแสดงถึงการละเมิดศาลโลกและอนุสัญญาเจนีวา” นายนาธาเนียล เรย์มอนด์ เจ้าหน้าที่จากห้องปฏิบัติการวิจัยประจำวิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเยล กล่าว “เรื่องนี้กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระจายวงกว้างไปทั่ว”

นายเรย์มอนด์ กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุนี้ ชาวยูเครนที่อยู่ในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องยอมทำหนังสือเดินทางรัสเซียเพื่อให้มีชีวิตรอด มิฉะนั้นแล้ว พวกเขาอาจต้องเผชิญกับการถูกคุมขัง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 66)

Tags: , ,