สหรัฐเคืองถูกฟิทช์หั่นเครดิต ชี้นักลงทุนทั่วโลกยังเชื่อมั่นเศรษฐกิจมะกัน

รัฐบาลสหรัฐได้ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อกรณีที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ โดยฟิทช์ระบุว่า สหรัฐมียอดขาดดุลงบประมาณที่สูงมากและมีระบบธรรมาภิบาลที่อ่อนแอลง ซึ่งส่งผลให้เผชิญกับปัญหาหนี้พุ่งชนเพดานหลายครั้งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

นางคารีน ฌอง-ปิแอร์ โฆษกทำเนียบขาวได้ออกมาตอบโต้การตัดสินใจกล่าวของฟิทช์ โดยกล่าวว่า การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐถือเป็นการดำเนินการที่สวนทางกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง

ขณะที่นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐออกแถลงการณ์ว่า เธอไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ฟิทช์ทำเช่นนั้น โดยระบุว่าการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐเป็นการกระทำตามอำเภอใจ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ล้าหลัง

“การตัดสินใจของฟิทช์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ชาวอเมริกัน นักลงทุน และประชาชนทั่วโลกได้รับรู้ถึงความเป็นจริงที่ว่า พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังคงปลอดภัยอย่างมากและเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง และเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง”

“รูปแบบการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเชิงปริมาณ (quantitative ratings model) ของฟิทช์ได้เสื่อมถอยลงในช่วงปี 2561-2563 แต่ฟิทช์ก็ยังคงประกาศใช้รูปแบบการจัดอันดับเดิม ๆ แม้ว่าข้อมูลบ่งชี้ในด้านต่าง ๆ มีความคืบหน้าแล้วก็ตาม” นางเยลเลนกล่าว

ทั้งนี้ ฟิทช์ได้ปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของสหรัฐลงสู่ระดับ AA+ จากระดับ AAA ในวันอังคาร (1 ส.ค.) เนื่องจากสถานะการคลังของสหรัฐมีแนวโน้มที่จะถดถอยลงในช่วง 3 ปีข้างหน้า ขณะที่ระบบธรรมาภิบาลอ่อนแอลง และภาระหนี้สินโดยรวมของสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น

“ภาวะชะงักงันทางการเมืองส่งผลให้หนี้สินของสหรัฐพุ่งชนเพดานครั้งแล้วครั้งเล่า และส่วนใหญ่จะรอดพ้นการผิดนัดชำระหนี้ในนาทีสุดท้าย ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ได้บั่นทอนความเชื่อมั่นในด้านการบริหารการคลัง”

“ในมุมมองของฟิทช์นั้น ระบบธรรมาภิบาลของสหรัฐถดถอยลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงปัญหาการคลังและหนี้สิน แม้ว่าในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา สภาคองเกรสได้ตกลงระงับเพดานหนี้ไปจนถึงเดือนม.ค. 2568 ก็ตาม” ฟิทช์ระบุ

แถลงการณ์ของฟิทช์ยังระบุด้วยว่า ยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น และคาดว่าอาจจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 6.3% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2566 จากระดับ 3.7% ในปี 2565 ส่วนการที่รัฐบาลปรับลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านกลาโหม (15% ของการใช้จ่ายโดยรวมของรัฐบาลกลาง) ตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในกฎหมาย ‘Fiscal Responsibility Act’ นั้น ช่วยให้แนวโน้มการคลังในระยะกลางดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”

นอกจากนี้ ฟิทช์ยังระบุถึงภาวะสินเชื่อตึงตัว ประกอบกับการลงทุนในภาคธุรกิจที่อ่อนแอลง และการชะลอตัวของการอุปโภคบริโภค ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับภาวะถดถอย “เล็กน้อย” ในช่วงไตรมาส 4/2566 และในไตรมาส 1 ปีหน้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ส.ค. 66)

Tags: , , , ,