การประกาศกลับประเทศไทยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หนีคดีไปต่างประเทศภายหลังเกิดการรัฐประหารปี 2549 จนผ่านไป 17 ปี ที่ล่าสุดมีการประกาศว่าจะเดินทางกลับประเทศไทยแน่นอน ไม่ว่าจะต้องกลับมาถูกติดคุกก็ตาม
ย้อนดูคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในอดีตที่ทำให้นายทักษิณ ต้องหลบหนีไปพำนักอยู่ต่างประเทศมีจำนวน 4 คดี โทษจำคุกรวม 12 ปี
แต่คดีซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ 1 ใน 4 คดี หมดอายุความไปแล้ว ดังนั้นหากนายทักษิณเดินทางกลับมาถึงก็ต้องเข้าสู่กระบวนการบังคับโทษตามคำพิพากษาอีก 3 คดีที่เหลือ โดยมีโทษจำคุกรวม 10 ปี ประกอบด้วย
– คดีเอ็กซิมแบงก์ ตัดสินเมื่อวันที่ 23 เม.ย.62 เป็นคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแห่งรัฐ (คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้องนายทักษิณกรณีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุนจำนวน 4,000 ล้านบาทให้แก่รัฐบาลเมียนมา เพื่อนำไปใช้ในการซื้อสินค้าและบริการของ บมจ.ชินแซทเทลไลท์ เอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น โดยมีคำพิพากษาว่านายทักษิณมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี
– คดีหวยบนดิน ตัดสินเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.62 เป็นคดีที่ คตส. โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องนายทักษิณ กรณีดำเนินโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ขัดต่อ พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล และ พ.ร.บ.เงินคงคลัง ทำให้รัฐเสียหายจำนวน 14,862 ล้านบาท โดยพิพากษาว่านายทักษิณเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น โดยรวมกระทำการกับจำเลยคนอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี
– คดีทุจริตแปลงสัมปทานมือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต ตัดสินเมื่อวันที่ 30 ก.ค.63 เป็นคดีที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องนายทักษิณ ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท โดยมีคำพิพากษาว่านายทักษิณมีความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทง ความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 โดยให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ และจำคุก 3 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น รวมเป็นจำคุก 5 ปี ให้นับโทษจำคุกต่อจากคดีอื่น
ส่วนคดีซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ ที่ตัดสินไปเมื่อวันที่ 21 ต.ค.51 หมดอายุความไปแล้ว โดยมีคำพิพากษาว่านายทักษิณมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 (1) วรรคสามและมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ค. 66)
Tags: ZoomIn, การเมือง, ทักษิณ ชินวัตร, นายกรัฐมนตรี, รัฐประหาร, ศาลฎีกา