องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เปิดเผยรายงานสถิติรายได้ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกประจำปี 2566 โดยเป็นการใช้ข้อมูลรายได้ของภาครัฐ (public revenue) ที่ครอบคลุมระหว่างปี 2553 – 2564 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ที่เกิดโรคโควิด-19 ระบาด
ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเผชิญผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจเช่นเดียวกับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก แม้แต่ละประเทศจะได้รับผลกระทบในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป
แม้รายได้ภาษีในประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกฟื้นตัวขึ้นในปี 2564 หลังลดลงอย่างหนักในปี 2563 แต่โรคระบาดยังคงบั่นทอนรายได้อย่างหนักในไม่กี่ประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มหมู่เกาะแปซิฟิก
รายงานฉบับนี้เป็นการเปรียบเทียบสัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP (Tax-to GDP) ใน 29 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยสัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP เป็นมาตรวัดรายได้ภาษี ซึ่งรวมถึงเงินสมทบประกันสังคม
ในปี 2564 สัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกอยู่ที่ระหว่าง 9.7% ในประเทศลาวไปจนถึง 36.6% ในประเทศนาอูรู โดย 13 จาก 29 ประเทศมีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP สูงเหนือค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่ 19.8% ในปี 2564 และทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ที่ 34.1% ยกเว้นนาอูรูเพียงประเทศเดียว ซึ่งอยู่ที่ 36.6%
7 จาก 19 ประเทศเอเชียในรายงานฉบับนี้มีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยญี่ปุ่นอยู่ที่ 33.2% ในปี 2563 เกาหลีใต้อยู่ที่ 29.9% มองโกเลียอยู่ที่ 24.0% อาร์เมเนียอยู่ที่ 22.7% จอร์เจียอยู่ที่ 22.6% จีนอยู่ที่ 21.0% และคีร์กีซสถานอยู่ที่ 20.0%
ส่วน 4 จาก 8 ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกในรายงานฉบับนี้ ได้แก่ หมู่เกาะคุ๊ก โตเกเลา ซามัว และนาอูรู มีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP เหนือค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกและอีก 4 หมู่เกาะ ได้แก่ ปาปัวนิวกินี วานูอาตู ฟิจิ และโซโลมอน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ค. 66)
Tags: GDP, OECD, ภาษี, องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา, เอเชียแปซิฟิก