น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. … โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดลักษณะ และระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม
ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับประเภทอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมในปัจจุบัน โดยกำหนดให้ผู้ที่จะใช้อาคารเพื่อประกอบธุรกิจโรงแรม ต้องดำเนินการตามที่กำหนดในส่วนที่เกี่ยวกับโครงสร้างโรงแรม ระบบป้องกัน และระงับอัคคีภัย ระบบทางหนีไฟ ลักษณะภายในและภายนอกอาคาร
ตลอดจนมีข้อกำหนดสำหรับกรณีที่นำอาคารลักษณะพิเศษมาประกอบธุรกิจโรงแรม เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัย ทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมอาคาร และกฎหมายว่าด้วยโรงแรม สนับสนุนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในเมืองท่องเที่ยวเมืองรอง สามารถนำอาคารที่มีรูปแบบพิเศษอื่นมาประกอบธุรกิจได้ ให้โรงแรมในไทยแข่งขันได้ ได้มาตรฐาน และสร้างความปลอดภัยแก่ผู้รับบริการ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กฎกระทรวงมีข้อกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคาร ประกอบด้วย
1. โครงสร้างหลัก บันได และวัสดุ เช่น โรงแรมต้องมีโครงสร้างหลักที่มั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ปลอดภัย โรงแรมที่มีมากกว่า 3 ชั้น ต้องมีโครงสร้างหลักและผนังที่ทำด้วยวัสดุถาวรที่เป็นวัสดุไม่ติดไฟ มีข้อกำหนดลักษณะบันได เช่น กรณีโรงแรมตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป ที่มีบันไดสูงเกิน 4 เมตร ต้องมีชานพักบันไดทุกช่วง 4 เมตร เป็นต้น
2. ระบบป้องกัน และระงับอัคคีภัย ระบบการจัดการอาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น เช่น กำหนดให้โรงแรมประเภทต่างๆ ต้องมีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย และจัดให้มีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยเพิ่มเติม เช่น มีที่เก็บน้ำสำรอง บันไดหนีไฟที่มีความลาดชันน้อยกว่า 60 องศา มีการกำหนดลักษณะเส้นทางหนีไฟของโรงแรม มีป้ายบอกชั้นในตำแหน่งที่มองเห็นชัด มีระบบจัดการอาคาร เช่น การจัดแสงสว่าง จัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ทุพพลภาพ และคนชรา เป็นต้น
3. พื้นที่ภายในอาคาร และที่ว่างภายนอกอาคาร มีการกำหนดขนาดของห้องพักที่เหมาะสม กำหนดระยะดิ่งของห้องพักต้องไม่น้อยกว่า 2.6 เมตร ส่วนห้องพักที่อยู่ในโครงสร้างของหลังคา หรือผนังลาดเอียง ต้องมีระยะดิ่งไม่น้อยกว่า 1.8 เมตร กำหนดช่องทางเดินในโรงแรม ต้องกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร กำหนดให้มีที่ว่างภายนอกอาคารไม่น้อยกว่า 10 ใน 100 ของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร กรณีที่มีห้องพักรวม ให้มีผู้พักได้ไม่เกิน 40 คน ต้องมีทางเดินภายในห้องกว้างไม่น้อยกว่า 1.2 เมตรเป็นต้น
4. กรณีนำอาคารลักษณะพิเศษ เช่น เต็นท์ โครงสร้างแบบอัดอากาศ (bubble) รถพ่วงตู้คอนเทนเนอร์ บ้านต้นไม้ ท่อคอนกรีตสำเร็จรูป ตู้คอนเทนเนอร์ มาใช้ประกอบธุรกิจธุรกิจโรงแรม มีข้อกำหนดต้องดำเนินการ ได้แก่ กรณีของเต็นท์ โครงสร้างแบบอัดอากาศ (bubble) กำหนดให้วัสดุที่สร้าง หรือนำมาประกอบ ต้องมีคุณสมบัติที่เกี่ยวกับการลามไฟ เป็นไปตามที่รัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารประกาศกำหนด ต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือไม่น้อยกว่า 1 เครื่องต่อพื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 112 ตารางเมตร และมีระยะการเข้าถึงไม่เกิน 22.50 เมตร ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 25 ใน 100
ส่วนของพื้นที่ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารแต่ละหลัง จะต้องมีระยะห่างระหว่างกันโดยรอบไม่น้อยกว่า 3 เมตร โดยวัดระยะห่างจากแนวสมอบกที่ยึดอาคาร หรือส่วนริมสุดของอาคาร ให้ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับโครงสร้าง และยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามขนาดของห้องพัก
กรณีเต็นท์ รถ หรือส่วนพ่วง รถไฟ ท่อคอนกรีตสำเร็จรูป ตู้คอนเทนเนอร์ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับขนาดห้อง แต่ต้องมีอัตราส่วนพื้นที่ห้องพักต่อผู้พักไม่น้อยกว่า 3 ตารางเมตร และกรณีบ้านต้นไม้ที่มีห้องพัก 1 ห้อง และมีผู้พักไม่เกิน 4 คน ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับบันได แต่ต้องมีบันไดหรือทางขึ้น-ลงที่เหมาะสมต่อสภาพการใช้งาน และมีสิ่งป้องกันการตกที่ปลอดภัย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ได้เคยผ่านการอนุมัติหลักการจาก ครม. เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 66 และได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาเพื่อดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่ง สคก. ได้มีการแก้ไขปรับปรุงรูปแบบการกำหนดเนื้อหาของร่างกฎกระทรวงฯ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามข้อใดของกฎกระทรวงฉบับใดที่ออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และกำหนดเนื้อหาสาระที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความชัดเจนในทางปฏิบัติ จึงได้เสนอให้ ครม. อนุมัติร่างฉบับที่แก้ไขครบถ้วนแล้วในครั้งนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ค. 66)
Tags: ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, ระบบความปลอดภัย, ไตรศุลี ไตรสรณกุล