นายอีลอน มัสก์ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการตัดสินใจเปลี่ยนโลโก้นกสีฟ้าของทวิตเตอร์ เป็นรูปตัว X ว่า เป็นการปรับธุรกิจไปสู่แพลตฟอร์มที่กว้างขวางยิ่งขึ้นสำหรับการสื่อสารและการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นแอปพลิเคชันที่ทำได้ทุกอย่าง
“ไม่ใช่เรื่องง่ายที่บริษัทหนึ่งจะเปลี่ยนชื่อของตัวเอง แต่ยังคงดำเนินกิจกรรมในรูปแบบเดิม อย่างไรก็ดี ชื่อ ‘ทวิตเตอร์’ เป็นชื่อที่สมเหตุผล เมื่อมันสามารถส่งข้อความไปมาได้ประมาณ 140 ตัวอักษร เหมือนกับเสียงนกร้อง” นายมัสก์กล่าวในวันจันทร์ (24 ก.ค.) พร้อมกับกล่าวถึงกรณีที่เขาตั้งโพลถามผู้ติดตามหลายล้านรายว่าต้องการให้เปลี่ยนสีแพลตฟอร์มจากสีฟ้าเป็นสีดำหรือไม่ และท้ายที่สุดได้นำไปสู่การเปลี่ยนโลโก้จากรูปนกสีฟ้าไปเป็นรูปตัว X สีขาวบนฉากหลังดำ
ขณะนี้ เพจอย่างเป็นทางการของทวิตเตอร์ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “X” และหากพิมพ์ชื่อเว็บ x.com ผู้ใช้จะถูกนำไปหน้าเว็บทวิตเตอร์แทน โดยนายมัสก์เป็นผู้ก่อตั้งเว็บ x.com ในฐานะธนาคารออนไลน์เมื่อปี 2542 ซึ่งได้เปลี่ยนเป็นเพย์พาล (PayPal) ในภายหลัง และต่อมาในปี 2560 นายมัสก์ซื้อเว็บ x.com คืนจากเพย์พาลโดยให้เหตุผลว่ามันมี “คุณค่าทางจิตใจ”
นายมัสก์ตั้งเป้าว่า แอปพลิเคชัน X ซึ่งจะเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานของทวิตเตอร์เข้ากับ x.com นั้น จะเป็นศูนย์รวมของการติดต่อสื่อสาร มัลติมีเดีย และความสามารถในการจัดการโลกการเงินของผู้ใช้
ทางด้านนางลินดา ยัคคารีโน ซีอีโอของทวิตเตอร์ ได้ทวีตข้อความสนับสนุนการยกเครื่องใหม่ของนายมัสก์ว่า X จะประกอบด้วย ฟีเจอร์เทคโนโลยีด้านการเงิน (ฟินเทค) เช่น การชำระเงิน และการธนาคาร โดยนางยัคคารีระบุว่า “X คือสถานะแห่งอนาคตของการมีปฏิสัมพันธ์แบบไร้ขีดจำกัด โดยมุ่งเน้นไปที่เสียง วิดีโอ การส่งข้อความ การชำระเงิน/การธนาคาร สร้างตลาดระดับโลกสำหรับแนวคิด สินค้า บริการ และโอกาส”
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นางยัคคารีโนที่เพิ่งเข้ามากุมบังเหียนทวิตเตอร์ได้ไม่นาน มีหน้าที่กอบกู้ความเชื่อมั่นของผู้ลงโฆษณาและผู้ใช้งาน จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและดูไม่สมเหตุสมผลภายใต้การบริหารของนายมัสก์ก่อนหน้านี้
นายมัสก์เปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ รายได้จากการโฆษณาของทวิตเตอร์ลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง และคู่แข่งตัวฉกาจอย่างเมตา แพลตฟอร์ได้ออกมาท้าชนด้วยการเปิดตัว เธรดส์ (Threads) ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและนักวิเคราะห์มองว่า การรีแบรนด์ทวิตเตอร์ไปสู่ X นั้นสามารถดึงความสนใจกลับมายังแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่าอาจจะไม่สามารถชดเชยมูลค่าแบรนด์หลายพันล้านดอลลาร์ที่สูญเสียไปในช่วงก่อนหน้านี้ก็ตาม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ค. 66)
Tags: Twitter, ทวิตเตอร์, อีลอน มัสก์