29 จ.ป่วยไข้เลือดออกสูง พบผู้ใหญ่เสียชีวิตมากกว่าเด็ก

สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบจังหวัดที่มีอัตราป่วยโรคไข้เลือดออกสูงกว่า 20 ต่อประชากรแสนคน รวมทั้งมีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในบ้าน (HI) และในชุมชน (CI) สูง จำนวน 29 จังหวัด กระจายทั่วทุกภาค ในจำนวนนี้มี 3 จังหวัดที่อัตราป่วยสูงเกินกว่า 100 ต่อประชากรแสนคน คือ ตราด 125.2 จันทบุรี 109.7 และน่าน 108.4 ที่น่าเป็นห่วงคือ แนวโน้มผู้ป่วยไข้เลือดออกเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยปี 2566 พบผู้เสียชีวิตแล้ว 41 ราย ใน 23 จังหวัด เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี จำนวน 12 ราย และผู้ใหญ่อายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป 29 ราย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยง คือ มีภาวะอ้วน, มีโรคประจำตัวเรื้อรัง, ได้รับการวินิจฉัยและรักษาช้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่ที่ช่วงแรกป่วยมักไม่ได้นึกถึงโรคไข้เลือดออก, และการได้รับยากลุ่มเอ็นเสดเพื่อลดไข้ โดยพบมากในกลุ่มเด็ก ดังนั้น ในช่วงนี้หากมีอาการไข้ อย่าซื้อยากลุ่มเอ็นเสดมารับประทานเอง เพราะจะทำให้เลือดออกง่าย จนมีความเสี่ยงเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้ทุกจังหวัดติดตามประเมินสถานการณ์โรคไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด และพิจารณาจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยเน้นมาตรการในพื้นที่เสี่ยงที่คาดว่าจะระบาดภายใน 4 สัปดาห์

รวมทั้งขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณาสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสื่อสารถึงประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ รวมถึงเร่งรัด 29 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงให้ดำเนินการอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอำเภอที่พบการระบาดสูง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกได้ดีที่สุด คือ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเป็นประจำทุกสัปดาห์ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ และ อสม. ดำเนินการตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ และเก็บน้ำ เพื่อไม่ให้ยุงลายมีที่วางไข่ และฉีดพ่นฆ่ายุงลายตัวเต็มวัย ร่วมกับการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยการสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด นอนในมุ้ง ใช้ยาจุดกันยุง หรือทาโลชั่นกันยุง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ค. 66)

Tags: , , ,