ตลาดการเงินจับตาการประชุมนโยบายการเงินของ 3 ธนาคารยักษ์ใหญ่ระดับโลกในสัปดาห์นี้ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะจัดการประชุมในวันที่ 25-26 ก.ค. ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะจัดการประชุมในวันที่ 27 ก.ค. และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะจัดการประชุมวันที่ 27-28 ก.ค.
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ข้อมูลล่าสุดจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. และให้น้ำหนักเพียง 0.2% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25%
นอกจากนี้ ตลาดมองว่าเฟดใกล้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังการเปิดเผยยอดค้าปลีก, ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ต่ำกว่าคาด โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้เป็นครั้งสุดท้ายในปีนี้ ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า
ทั้งนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 40.4% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค.2567 โดยให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นจากระดับ 34.7% เมื่อเดือนที่แล้ว
ธนาคารกลางยุโรป (ECB)
ผลการสำรวจซึ่งจัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ พบว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 27 ก.ค. ซึ่งอาจเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งสุดท้ายในปีนี้ หลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 8 ครั้งติดต่อกัน
ทั้งนี้ ECB ได้เริ่มวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนับตั้งแต่เดือนก.ค.2565 เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
ตลาดคาดการณ์ว่า BOJ อาจจะปรับนโยบายการเงินในการประชุมวันที่ 27-28 ก.ค.นี้ หลังจากญี่ปุ่นเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานพุ่งขึ้น 3.3% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าเป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% เป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกัน
ส่วนในการประชุมครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา BOJ มีมติคงนโยบายการเงิน โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield curve control program) รวมทั้งคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีที่ระดับ 0%
อย่างไรก็ดี BOJ เคยสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงิน ด้วยการขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลญี่ปุ่นให้เคลื่อนไหวในช่วง -0.5% ถึง +0.5% จากเดิมที่ -0.25% ถึง +0.25% ในการประชุมเดือนธ.ค. 2565 ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้กับตลาดเงินและถูกมองว่า BOJ กำลังส่งสัญญาณยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (ultraloose monetary policy)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ค. 66)
Tags: BOJ, ECB, ดอกเบี้ย, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, ธนาคารกลางยุโรป, ธนาคารกลางสหรัฐ, อัตราดอกเบี้ย, เฟด