นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปราย พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2654 (พ.ร.ก.ซอฟท์โลน) ฉบับใหม่ ถึงหัวใจสำคัญที่นำพาเอสเอ็มอีออกจากวิกฤติได้ คือ กระแสเงินสด หรือสายป่านทางธุรกิจ ซึ่งหากเป็นทุนใหญ่คงไม่เดือดร้อนมาก และไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่หากเป็นทุนเล็กที่เป็นคนส่วนใหญ่ของคนในประเทศ ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล
การที่รัฐบาลจะออกนโยบายใดๆ ต้องเข้าใจเรื่องกระแสเงินสดที่มีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ กระแสเงินสดทางการเงิน กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และกระแสเงินสดจากการลงทุน ซึ่งรัฐบาลสามารถอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเอสเอ็มอีให้ธุรกิจที่มีกระแสเงินสดเป็นลบให้กลายเป็นบวกได้ในอนาคต
สำหรับ พ.ร.ก.ซอฟท์โลน เป็นการช่วยเหลือในรูปแบบกระแสเงินสดทางการเงิน ซึ่งปัญหาที่เห็นคือ เป็น พ.ร.ก.ซอฟท์โลนที่แข็งที่สุดในโลก ต่อให้แก้ไขตรงจุดอาจใช้เวลา 1 ปี พอช่วยต่อลมหายใจให้กับเอสเอ็มอีไปได้บ้าง แต่ช่วยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเชื่อว่าสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการจริงๆ คือ การช่วยเหลือทางด้านกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลในต่างประเทศช่วยเอสเอ็มอีในประเทศนั้นๆ และสิ่งที่เอกชนต้องการคือ การชดเชยโดยตรง เช่น การชดเชยรายได้ที่หายไปเพราะคำสั่งของรัฐ หรือการอุดหนุนพยุงการจ้างงาน
นายพิธา กล่าวว่า รัฐบาลมีงบประมาณมากมาย แต่ผู้ประกอบเอสเอ็มอีไทยยังอดอยากปากแห้ง การท่องเที่ยวยังไม่เห็นแสงสว่าง เงินทุนสำรองเริ่มลดน้อยลง ซึ่งอาจเป็นเพราะรัฐบาลคิดแต่เพียงเรื่องราชการรวมศูนย์ หรือหารือแต่เจ้าสัวรายใหญ่ที่ไม่เคยเข้าใจเอสเอ็มอีจริงๆ
“ข้อดีของรัฐบาลมีต่อเอสเอ็มอี มีเพียง 1 ข้อ คือ รัฐบาลทำตามนโยบาย เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่ ทำได้ตามสัญญากับพี่น้องประชาชนได้อย่างยอดเยี่ยม ไร้ที่ติ ไม่ว่าจะเป็นตลาด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า การท่องเที่ยว สงบจริงๆ เงียบสงบเหมือนป่าไม้” นายพิธา กล่าว
พร้อมระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องหันมาใส่ใจเอสเอ็มอีอย่างจริงจัง ตอบสนองความเดือดร้อนของประชาชนให้มากขึ้น ซึ่งอนาคตของเศรษฐกิจไทยในวิกฤตโควิดจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับความอยู่รอด และเสถียรภาพของเอสเอ็มอี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 64)
Tags: พ.ร.ก.ซอฟท์โลน, พรรคก้าวไกล, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, เอสเอ็มอี