ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญที่สร้างความร้อนและแห้งแล้งกว่าปกติ ได้เริ่มขึ้นแล้วในปี 66 หลังจากที่ในช่วงราว 3 ปีก่อนหน้า ไทยเผชิญปรากฏการณ์ลานีญาที่มีสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ดี โดยล่าสุดในเดือนก.ค. 66 องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) พยากรณ์ว่า ขณะนี้โอกาสเกิดเอลนีโญมีเพิ่มขึ้น และยกระดับการเตือนภัยเป็น El Nino Advisory แล้ว โดยมีความน่าจะเป็นที่จะเกิดเอลนีโญทะลุ 90% ส่งผลกระทบลากยาวถึงอย่างน้อยในเดือนมี.ค. 67 ซึ่งจะมีสัญญาณความร้อนและแห้งแล้งชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ในเดือนต.ค. 66 ส่งผลต่อปริมาณน้ำในเขื่อนและน้ำฝนที่อาจลดลง
ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศที่ 50% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย โดยพื้นที่ที่น่าห่วงที่สุดคือ ภาคกลาง ที่มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำเพียง 19% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤต รวมไปถึงพื้นที่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย คือ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน
นอกจากนี้ หากพิจารณาในแง่ของปริมาณน้ำฝน พบว่า ในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-16 ก.ค. 66 ปริมาณฝนสะสมเฉลี่ยทั้งประเทศลดลง 41% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี สถานการณ์ภาพรวมน้ำในเขื่อนและปริมาณน้ำฝนในปี 66 ยังคงสูงกว่าปี 58 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เอลนีโญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 66 อาจสร้างความเสียหายต่อพืชเกษตรสำคัญของไทย ที่จะมีผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงนี้ ประกอบด้วย ข้าวนาปี มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ รวมคิดเป็นมูลค่าความเสียหายในปี 66 ราว 48,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นความเสียหายในข้าวเป็นหลักที่ 37,631 ล้านบาท หรือเกือบ 80% ของความเสียหายภาคเกษตรทั้งหมด
ทั้งนี้ หากพิจารณาเทียบความเสียหายจากภัยแล้งที่มีต่อข้าวในอดีต พบว่า ภาพรวมความเสียหายของข้าวในปี 66 น้อยกว่าในปี 58 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรง ทั้งในเชิงมูลค่า และปริมาณผลผลิตข้าวที่เสียหาย แต่มากกว่าปี 63 ที่เกิดภัยแล้งล่าสุด
นอกจากนี้ ตัวเลขความเสียหายดังกล่าว เป็นการประเมินความเสียหายในด้านพืชเท่านั้น ขณะที่ด้านปศุสัตว์ และประมง แม้จะเป็นช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากเช่นกันในช่วงครึ่งปีหลัง ที่อาจได้รับผลกระทบจากความร้อนแล้ง แต่ภาพรวมผลผลิตปศุสัตว์และประมงทั้งปีนี้ คงไม่ลดลงจากปีก่อนที่เผชิญโรคระบาดในสุกรอย่างโรค ASF
เมื่อมองไปในปี 67 ตามที่ NOAA คาดว่า เอลนีโญจะทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าปี 66 และอาจลากยาวไปถึงเดือนมี.ค. 67 เป็นอย่างน้อย ทำให้ไทยคงต้องเผชิญสถานการณ์น้ำที่ยากลำบากมากขึ้น ทั้งในแง่ของปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนที่สะสมมาจากปี 66 ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงปริมาณน้ำฝนที่น่าจะลดลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบของเอลนีโญที่มีต่อภาคเกษตรไทยในปี 67 คงมีความรุนแรงขึ้น สร้างความเสี่ยงต่อผลผลิตสินค้าเกษตรให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะพืชฤดูแล้ง ทั้งด้านปริมาณและจำนวนชนิดพืชที่เสียหาย ดันราคาให้อยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ อาจมีตัวเลขความเสียหายมากขึ้นกว่าปี 66 คือมากกว่า 48,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นความเสียหายที่มีต่อข้าวนาปรังเป็นหลัก เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปรัง จะทยอยออกสู่ตลาดจำนวนมากในไตรมาสที่ 1 ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำในเขื่อนเป็นหลัก และปลูกมากในภาคกลางที่เผชิญระดับน้ำในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้อยวิกฤต ผนวกกับผลผลิตต่อไร่ที่สูง ทำให้ความเสียหายคงมีมาก รวมไปถึงพืชฤดูแล้งอื่น อย่างมันสำปะหลัง และอ้อย ที่อาจได้รับความเสียหายชัดเจน
นอกจากนี้ ด้วยสภาพอากาศโดยรวมที่ร้อนแล้งในปี 67 อาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงการปลูกข้าวนาปีในไตรมาสที่ 2 ด้วย ที่อาจปลูกไม่ได้ หรือมีผลผลิตต่อไร่ที่ลดลง กดดันผลผลิตข้าวนาปี ทำให้ภาพรวมในปี 67 ความเสียหายของข้าวคงมีสูง เพราะมาจากทั้งข้าวนาปรังและนาปี ซึ่งอาจมีตัวเลขความเสียหายใกล้เคียงหรือมากกว่าปี 58 อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามระดับความรุนแรงของเอลนีโญในระยะข้างหน้า รวมถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบที่จะส่งผลต่อประเภทพืชที่ได้รับความเสียหายด้วย
ปรากฏการณ์เอลนีโญ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านในแถบภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกด้วย เช่น เวียดนาม เมียนมา สปป.ลาว อินเดีย เป็นต้น ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญในโลกเช่นกัน เช่น ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล เป็นต้น
ดังนั้น ผู้ประกอบการกลางน้ำ-ปลายน้ำ ที่ใช้วัตถุดิบต้นน้ำจากแหล่งผลิตในแถบเอเชีย คงต้องเผชิญราคาสินค้าเกษตรในระดับสูง ขณะที่ในอีกซีกโลกหนึ่งอย่างประเทศในแถบอเมริกาใต้จะแตกต่างกัน โดยจะมีปริมาณฝนที่มากกว่าปกติในช่วงเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม แม้จะช่วยหนุนผลผลิตธัญพืชสำคัญให้เพิ่มขึ้น เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวโพด เป็นต้น แต่เนื่องจากล่าสุด รัสเซียได้ประกาศยุติข้อตกลงส่งออกธัญพืชของยูเครนผ่านทะเลดำ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 66 จึงอาจส่งผลต่อภาพรวมราคาธัญพืชโลกที่น่าจะยืนในระดับสูง กระทบต่อผู้ประกอบการกลางน้ำ-ปลายน้ำ ที่ต้องเผชิญราคานำเข้าธัญพืชต้นน้ำจากแหล่งผลิตในประเทศแถบอเมริกาใต้ที่มีราคาสูงเช่นกัน
ในระยะข้างหน้า ภาพรวมราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรโลกน่าจะยังคงยืนสูง จากปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศแปรปรวน และประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นสำคัญ จะกระทบต่อธุรกิจกลางน้ำ-ปลายน้ำที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบให้ต้องเผชิญราคาวัตถุดิบต้นน้ำที่อยู่ในระดับสูง และยังอาจเสี่ยงขาดแคลนวัตถุดิบได้ในบางจังหวะ ซึ่งไทยเองก็คงได้รับผลกระทบไปในทิศทางที่สอดคล้องกับตลาดโลกเช่นกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ผู้ประกอบการกลางน้ำ-ปลายน้ำของไทย คงได้รับผลกระทบดังกล่าวในระดับที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางธุรกิจและความยืดหยุ่นในการปรับตัวของผู้ประกอบการแต่ละราย ดังนั้น การเร่งเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการกลางน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อให้สามารถรับมือกับความไม่แน่นอนด้านราคา และอุปทานสินค้าเกษตรต้นน้ำ นับว่ามีความจำเป็น” บทวิเคราะห์ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ค. 66)
Tags: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, เกษตรกร, เกษตรกรรม, เศรษฐกิจไทย, เอลนีโญ