IPO ในอาเซียนเติบโต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจโลกซบเซา

การเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยแม้การทำ IPO ทั่วโลกลดลงประมาณ 30% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่ยอดทำ IPO ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นประมาณ 40%

IPO ที่โดดเด่นมาจากบริษัทที่มุ่งความสนใจไปยังอุปสงค์ภายในประเทศ เช่น อสังหาริมทรัพย์และผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงบริษัททรัพยากรที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน ไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยี ซึ่งกำลังเผชิญภาวะตลาดเสื่อมถอยในสหรัฐและยุโรป

ด้วยความช่วยเหลือจากดีลโลจิก (Dealogic) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มตลาดเงิน สำนักข่าวนิกเกอิได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูล IPO จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า การทำ IPO ระดมทุนได้ 4.1 พันล้านดอลลาร์ระหว่างเดือนม.ค. – มิ.ย. 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาและจำนวนการ IPO เพิ่มขึ้น 14% สู่ระดับ 79 ครั้ง

รายงานระบุว่า ทั้งจำนวนการทำ IPO และปริมาณเงินที่ระดมทุนได้จากการทำ IPO เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่โรคโควิด-19 ระบาดจะส่งผลกระทบ แม้จะยังเป็นจำนวนเล็กน้อยหากเทียบกับสหรัฐและยุโรป แต่เพิ่มขึ้นประมาณ 80% เมื่ออิงตามมูลค่า

อัมมาน มินเนรัล อินเตอร์เนชั่นแนล (Amman Mineral International) บริษัทเหมืองทองแดงและทองคำ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียวันที่ 19 มิ.ย. ระดมทุนได้มากที่สุดในช่วงที่ทำ IPO ที่กว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ค. 66)

Tags: