นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งถือเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ที่สุด และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบินมากที่สุด รวมทั้งมีผลกระทบต่อการบริหารและการดำเนินงานของ AOT อย่างชัดเจน ทำให้ AOT ได้มีการประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์หลังจากสิ้นสุดวิกฤตโรคโควิด-19 ทั้งในด้านรูปแบบการเดินทาง พฤติกรรมผู้โดยสาร ทิศทางอุตสากรรมการท่องเที่ยวและการบิน
โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความสะดวกผู้โดยสาร เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากการเดินทางทางอากาศ และยังสอดคล้องกับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) และสภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (ACI) ที่ได้ร่วมมือกันจัดทำโครงการ NEXTT (New Experience Travel Technologies) เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการเดินทางทางอากาศ
AOT ได้นำสิ่งเหล่านี้มาปรับกลยุทธ์การบริหารองค์กรให้สามารถฟื้นตัวให้ได้เร็วที่สุด โดยที่ผ่านมาได้เริ่มศึกษา พัฒนา และต่อยอดเทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารและลดความเสี่ยงที่เกิดจากการสัมผัส ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มนำมาใช้ในสนามบินบางแห่งของ AOT เพื่อนำร่องและขยายผลให้ครบทุกสนามบินในอนาคต ได้แก่
- (1) ระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Common Use Passenger Processing System : CUPPS) เริ่มนำร่องที่ ทสภ.แห่งแรก ซึ่งเป็นระบบที่อำนวยความสะดวกผู้โดยสารไม่ต้องต่อแถวเช็กอินและโหลดสัมภาระ ประกอบด้วย ระบบ CUSS (Common Use Self Service) การเช็กอินผ่านเครื่อง Kiosk โดยในอนาคตจะนำเทคโนโลยี Bio Metric เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการเช็กอิน ไม่ต้องใช้บัตรโดยสารยืนยันตัวตนในพิธีการตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจบัตรโดยสารก่อนขึ้นเครื่อง พร้อมทั้งระบบ CUBD (Common Use Bag Drop) สำหรับผู้โดยสารโหลดสัมภาระได้ด้วยตนเอง
- (2) ระบบติดตามและตรวจนับความหนาแน่นผู้โดยสารแบบ Real time (Passenger Tracking) เริ่มนำร่องที่ ทสภ. ทดม.และ ทภก.ก่อน โดยระบบนี้จะแสดงระยะเวลาที่ผู้โดยสารต้องรอคอยเข้าคิวในพื้นที่ตรวจบัตรโดยสาร ขั้นตอนตรวจค้นผู้โดยสาร และขั้นตอนตรวจหนังสือเดินทาง โดยสามารถตรวจสอบสถานะการรอคอยคิวผ่านจอมอนิเตอร์แบบ Real time ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารสามารถประเมินเวลาในการรอคอยในพื้นที่นั้นๆ อีกทั้งยังสามารถประเมินเวลาการมาใช้บริการภายในสนามบินได้ด้วยตนเอง โดยสามารถเช็กได้ผ่าน AOT Airports Application
ทั้งนี้ ระบบยังสามารถแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่สนามบินในเรื่องของความหนาแน่นในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการกระจายผู้โดยสารไปยังจุดให้บริการที่มีความหนาแน่นน้อยกว่า และช่วยในเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ได้ด้วย
- (3) ระบบจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์แบบอัตโนมัติ (Smart Carpark) เป็นการให้บริการผู้โดยสารที่เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณอาคารจอดรถ ณ ทสภ. ทดม.และ ทภก. โดยผู้ใช้งานดำเนินการด้วยตนเองตั้งแต่การรับบัตรจอดรถ ค้นหาพื้นที่จอดรถ พร้อมแสดงจำนวนและตำแหน่งของช่องว่างที่สามารถจอดได้ ทั้งนี้ ระบบจะจดจำตำแหน่งที่จอดรถ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถค้นหารถของตนเองจากทะเบียนรถได้ที่ตู้ Kiosk เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการติดต่อและสัมผัสร่วมระหว่างผู้ใช้งานและเจ้าหน้าที่
นายนิตินัย กล่าวว่า แม้ว่า AOT จะเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการอำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ การพัฒนาสนามบินเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้บริการ และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป โดยโครงการพัฒนา ทสภ.ระยะที่ 2 มีความก้าวหน้ามากกว่า 95%
ทั้งนี้ AOT อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเปิดใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) โดยพิจารณาจากทิศทางการฟื้นตัวของปริมาณการจราจรทางอากาศและความต้องการเดินทางในอนาคต ควบคู่กับการบริหารจัดการอาคารผู้โดยสารหลัก โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของ ทสภ. ในภาพรวมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องระดับการบริการ (Level of Service) ที่เหมาะสม และการรองรับรูปแบบการเดินทางวิถีใหม่ (New Normal) ทั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับแผนบริหารจัดการฝูงบินของสายการบินที่มีฐานปฏิบัติการ ณ ทสภ. ด้วย
สำหรับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 เพื่อเป็นการคืนขีดความสามารถเดิมของ ทดม.และพัฒนาเต็มศักยภาพของพื้นที่ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 40 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างแก้ไขเพิ่มเติมรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหลังจากนั้นจะจัดส่งรายงานให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา
ขณะเดียวกัน AOT ได้ดำเนินการคู่ขนานไปกับการขออนุมัติงบประมาณในโครงการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงเอกสารโครงการเพื่อเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการจ้างออกแบบได้ในปี 65 และภายในปี 64 ทดม.อยู่ระหว่างการก่อสร้าง Taxi Drop Lane เพื่อเพิ่มช่องจราจร 2 เลน แยกเฉพาะรถแท็กซี่ที่เข้ามาส่งผู้โดยสาร พร้อมสร้างหลังคาคลุมชานชาลา ทางลาดเลื่อนอัตโนมัติ ติดกล้องวงจรปิด และระบบปรับอากาศ 2 จุดหน้าชานชาลาอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคาร 2 ประตู 9-10 และประตู 14-15
ส่วนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้เป็น 16.5 ล้านคน อยู่ระหว่างหาที่ปรึกษาออกแบบโครงการ ซึ่งจะใช้เวลาออกแบบประมาณ 1 ปี และอยู่ระหว่างเสนอรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับแก้ไข คาดว่าจะเสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรีต้นปี 65 และจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 69
พร้อมกันนี้ สนามบินของ AOT อีก 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานเชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ยังคงเดินหน้าพัฒนาตามแผนแม่บทด้วยเช่นกัน
นายนิตินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า AOT ยังมีนโยบายเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกิจการที่ไม่เกี่ยวกับการบิน (Non-Aeronautical Revenue) โดยมีแนวคิดต่อยอดพัฒนาทรัพย์สิน (ที่ราชพัสดุ) ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ ซึ่งที่ผ่านมา AOT ได้มีการประชาสัมพันธ์ทรัพย์สิน (ที่ราชพัสดุ) ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ผ่านสื่อต่างๆ เช่น เว็บไซต์ของ AOT กลุ่มไลน์ผู้ประกอบการของ AOT เป็นต้น
นอกจากนั้น ได้เตรียมความพร้อมของทรัพย์สินตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม เช่น การประเมินมูลค่าทรัพย์สิน การกำหนดค่าตอบแทน การจัดทำร่างประกาศเชิญชวน เป็นต้น รวมทั้งยังได้ขอเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุจากเดิมสิ้นสุดในปีงบประมาณ 2575 เป็นสิ้นสุดในปีงบประมาณ 2595
และ AOT ยังได้ประสานผู้ประกอบการเพื่อสอบถามความสนใจลงทุนพัฒนาและใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อรองรับการพัฒนาทรัพย์สินเชิงพาณิชย์ ทั้งโครงการขนาดเล็กและขนาดใหญ่ร่วมกับหุ้นส่วนทางธุรกิจตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 หรือการพัฒนาร่วมกับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ AOT แปลงถนนวัดศรีวารีน้อย 723 ไร่ AOT มีแผนที่จะพัฒนาให้เป็น “ศูนย์บริการและสนับสนุนกิจการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” บนเนื้อที่รวมประมาณ 560-1-99 ไร่ เพื่อดำเนินโครงการ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการประกอบกิจการท่าอากาศยาน และการขนส่งทางอากาศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อพัฒนาและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในพื้นที่โครงการเพื่อเชื่อมต่อสู่สนามบินและพื้นที่บริเวณโดยรอบต่อไป
อีกหนึ่งปัจจัยในการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนและความมั่นใจในคุณภาพการให้บริการ รวมทั้งความต่อเนื่องทางธุรกิจของการให้บริการหลัก (Core Service) ภายในสนามบินของ AOT คือ การขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจรูปแบบบริษัทลูกหรือบริษัทร่วมทุนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจของ AOT ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการการบิน (Aeronautical Business) เพื่อยกระดับมาตรฐานการดำเนินงาน และความหลากหลายด้วยการขยายธุรกิจออกไปจากธุรกิจการบิน (Diversified Business) เป็นการสร้างความเติบโตทางธุรกิจแบบเชิงรุกเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ กระจายความเสี่ยง และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวให้กับ AOT
AOT ได้ตั้งบริษัทร่วมทุน 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท รักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานไทย จำกัด (AVSEC) บริษัท บริการภาคพื้นท่าอากาศยานไทย จำกัด (AOTGA) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย ทาฟ่า โอเปอร์เรเตอร์ จำกัด (AOTTO) ที่เป็นความภาคภูมิใจของ AOT ในการมีส่วนร่วมยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตร
โดย AOT ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเตรียมเปิดศูนย์ตรวจสอบสินค้าเน่าเสียง่ายก่อนส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยจะปรับปรุงคลังสินค้า 4 ภายในเขตปลอดอากร ทสภ.เป็นศูนย์ตรวจรับรองมาตรฐาน ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างบันทึกข้อตกลง และเสนอให้กระทรวงคมนาคมซึ่งกำกับดูแล AOT และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา หลังจากนั้น จะก่อสร้างปรับปรุงสถานที่ใช้เวลาประมาณ 4 เดือนและคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการแก่เกษตรกรได้ในช่วงต้นปี 2565
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ค. 64)
Tags: AOT, ท่าอากาศยานไทย, นิตินัย ศิริสมรรถการ, สนามบิน