สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เกิดความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นว่า เศรษฐกิจจีนกำลังจะเผชิญกับภาวะเงินฝืด หลังข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอครั้งล่าสุดตอกย้ำถึงเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างซบเซา จนมีการเรียกร้องให้ภาครัฐออกมาดำเนินการแทรกแซงทางนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ
ในวันจันทร์ (17 ก.ค.) จีนประกาศว่า GDP สำหรับไตรมาส 2/2566 ของจีนขยายตัว 6.3% จากปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโต 7.3%
เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส GDP จีนเติบโต 0.8% ในไตรมาส 2/2566 ซึ่งชะลอตัวลงจากการเติบโต 2.2% ในไตรมาส 1/2566
“เราต้องพิจารณาแรงกดดันราคาแบบเป็นวงกว้างก่อนถึงจะประกาศเรื่องภาวะเงินฝืดได้” นายหง ฮ่าว หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโกรว์ อินเวสต์เมนต์ กรุ๊ปกล่าว พร้อมระบุว่า “กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในภาคส่วนต้นน้ำ ซึ่งปกติแล้วต้องใช้เวลาประมาณ 2 – 4 ไตรมาสถึงจะผ่านพ้นไปได้”
“ผมคิดว่าเราใกล้จะเผชิญกับภาวะเงินฝืด โดยขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องเข้าดำเนินการเพื่อสกัดแรงกดดันเงินฝืด” นายหงกล่าว
นายหงบ่งชี้ถึงข้อมูลเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่แสดงให้เห็นว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของจีนลดลง 5.4% ในเดือนมิ.ย.จากปีก่อนหน้าและลดลง 0.8% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ โดยตัวเลข PPI รายปีเดือนมิ.ย.ถือเป็นการลดลงติดต่อกันเดือนที่ 9 ของจีนและรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2558
ด้านดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) รายปีของจีนทรงตัวในเดือนมิ.ย. โดยขับเคลื่อนโดยการปรับลดลง 7.2% ของราคาเนื้อสุกร ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ที่การปรับขึ้น 0.2% และต่ำกว่าการปรับขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ค.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ค. 66)
Tags: จีน, เงินฝืด, เศรษฐกิจจีน