องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เปิดเผยในรายงานคาดการณ์การจ้างงาน 2566 ว่า แม้ค่าจ้างที่เป็นตัวเงิน (Nominal Wage) เติบโตเพิ่มขึ้น แต่ค่าจ้างที่แท้จริง (Real Wage) กลับปรับตัวลดลงในเกือบทุกประเทศสมาชิกของ OECD เนื่องจากวิกฤตค่าครองชีพมีความยืดเยื้อ
รายงานระบุว่า ตลาดแรงงานในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD ได้ผลักดันให้ค่าจ้างที่เป็นตัวเงินปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังคงไล่ไม่ทันเงินเฟ้อ ส่งผลให้ค่าจ้างที่แท้จริงปรับตัวลดลงในเกือบทุกประเทศอุตสาหกรรมและประเทศสมาชิก OECD โดยหลายประเทศในกลุ่ม OECD ได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงสร้างภาระอย่างหนักหน่วงให้กับภาคครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ
OECD ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 38 ประเทศระบุด้วยว่า กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นมากกว่าต้นทุนแรงงานในหลายประเทศและหลายภาคส่วน ซึ่งบ่งชี้ว่า ทุกคนไม่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนของวิกฤตค่าครองชีพอย่างเท่าเทียมกัน
รายงานระบุว่า ค่าจ้างที่แท้จริงโดยเฉลี่ยในกลุ่มประเทศ OECD ลดลง โดยอยู่ที่ -3.8% ในไตรมาส 1/2566 เทียบกับไตรมาส 1/2565
เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศพบว่า ฮังการีมีค่าจ้างที่แท้จริงลดลงมากที่สุดที่ -15.6% ตามมาด้วยลัตเวียลดลงที่ -13.4% และสาธารณรัฐเช็กลดลงที่ -10.4% ส่วนสวีเดนลดลงที่ -8.4% และฟินแลนด์ลดลงที่ -7.8%
สหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก มีค่าจ้างที่แท้จริงลดลงที่ -0.7%
ส่วนในเอเชีย ญี่ปุ่นมีค่าจ้างที่แท้จริงลดลงที่ -3.1% และเกาหลีใต้ลดลงที่ -2.2%
ประเทศในกลุ่ม OECD ที่มีค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้นมีเพียง 4 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียมที่ +2.9% ตามมาด้วยคอสตาริกาที่ +1.7% รวมถึงอิสราเอลที่ +0.6% และเนเธอร์แลนด์ +0.4%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ค. 66)
Tags: OECD, ค่าครองชีพ, ค่าจ้าง, ตลาดแรงงาน, เศรษฐกิจ