นายศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้ปริมาณการเดินทางโดยรวม และการเดินทางของสนามบินดอนเมืองที่ติดกับทางยกระดับดอนเมือง มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามการเปิดให้บริการสายการบินนานาชาติที่อาคาร 1 ที่ยังเปิดให้บริการไม่เต็มรูปแบบ ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิเริ่มมีปริมาณการเดินทางที่หนาแน่นแล้ว
ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโตเกิน 30% จากปีก่อน โดยคาดการณ์ปริมาณการจราจรเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 110,000 คันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีปริมาณการจราจรเฉลี่ยอยู่ที่ 85,000 คันต่อวัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นการคาดการณ์จากปริมาณจราจรที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา เนื่องจากรายได้ของบริษัทฯ ขึ้นอยู่กับปริมาณจราจร
“ปีนี้ไม่มีปัจจัยลบที่จำกัดการเดินทางและการล็อคดาวน์เหมือนกับในปี 2563-2564 และบริษัทฯดำเนินการตามแผนงานบริหารความเสี่ยงเพื่อไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงัก มีการติดตามและประเมินสถานการณ์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยภาพรวมแล้วนั้น ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม อยู่ในระหว่างการฟื้นตัวภายหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในกิจกรรมภาคขนส่ง เป็นกิจกรรมหลักที่ยังจำเป็นและยังมีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้คาดการณ์ว่ารายได้ปีนี้จะเป็นไปตามเป้าที่คาดการณ์ไว้” นายศักดิ์ดา กล่าว
ส่วนการประมูลโครงการใหม่ของภาครัฐ คาดว่า หลังจากจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ น่าจะมีการขับเคลื่อนโครงการด้านการคมนาคม ที่เป็นโอกาสของบริษัทฯ ในการเข้าร่วมลงทุนหลายโครงการ ได้แก่ 1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทล์ลเวย์) ช่วงรังสิต – บางปะอิน (M5) 2. โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน – บางบัวทอง 3. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว (M82) และ 4. โครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง เป็นต้น ซึ่งหากมีความคืบหน้าเพิ่มเติมทางบริษัทฯจะแจ้งให้ทราบต่อไป
กรรมการผู้จัดการ DMT กล่าวอีกว่า บริษัทฯ ยังคงดำเนินการตามแผนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนปี 2566-2570 แบ่งออกเป็น 7 ด้าน โดยในครึ่งปีแรกทุกกลยุทธ์ ยังคงขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและเป็นไปตามแผนที่วางไว้ สำหรับผลการดำเนินงานและแผนครึ่งปีหลัง ประกอบด้วย
1. กลยุทธ์ Safer Road Traffic Management/ Maintenance ที่เสริมความโดดเด่นของการเป็นผู้ให้บริการ O&M ทางยกระดับ ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย บริษัทฯ ได้มีการศึกษาโครงการ Smart Drive แล้วเสร็จซึ่งแสดงถึงประโยชน์ของการใช้บริการทางยกระดับ และการให้บริการที่เกิดความรวดเร็วกว่าระดับพื้นราบบนถนนวิภาวดี 38 นาที ต่อเที่ยว โดยผลการศึกษา พบว่า การใช้ทางยกระดับเกิดประโยชน์ด้านการประหยัดมูลค่าของเวลา กว่า 146 บาทต่อเที่ยว ซึ่งในครึ่งปีหลัง บริษัทฯ จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้ทางทราบถึงคุณค่าของการใช้ทางยกระดับที่ประหยัดแล้ว ยังช่วยลดมลพิษอีกด้วย
2. กลยุทธ์เติบโตไปด้วยกัน Inclusive Growth เป็นกลยุทธ์ที่สร้างโอกาสในการแข่งขัน และร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อต่อยอดไปยังโครงการทางด่วนใหม่ๆ และเติบโตไปด้วยกัน โดยบริษัทฯ มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการเงิน เทคนิค และบุคลากร อย่างไรก็ตาม การลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ต้องพิจารณาในความคุ้มค่าในการลงทุนเป็นลำดับแรก โดยมีโครงการที่อยู่ในแผน คือ M5 M9 M82 และ กะทู้-ป่าตอง
3. กลยุทธ์พัฒนาธุรกิจอื่น Other Non-Toll Business หลังจากได้มีการร่วมลุงทุนกับ บริษัท Hanshin Expressway (HEX) จากประเทศญี่ปุ่น และพันธมิตรอีก 2 ราย เพื่อดำเนินการด้านงาน Inspection/Maintenance โดยการตั้งบริษัทย่อย ASIAM Infra Co., Ltd. บริษัทฯ ยังคงมีการศึกษาโครงการอื่นๆ นอกเหนือจากทางด่วนลักษณะธุรกิจ Start up ต่างๆ จากความชำนาญและเชี่ยวชาญของฝ่ายบริหารและการร่วมกันขับเคลื่อนจากบุคลากรภายในองค์กร โดยมีเป้าหมายให้มีแหล่งรายได้ใหม่เพิ่มอีก อย่างน้อย 2 แหล่งในปี 2566
4. กลยุทธ์ความยั่งยืน ESG เป็นกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนธุรกิจขององค์กรและเชื่อมโยงทุกยุทธศาสตร์ด้วยกันในการส่งมอบคุณค่าให้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคมและกำกับดูแลกิจการ โดยมีหลักการขับเคลื่อนลักษณะ ESG-In-Process เพื่อการจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งด้านต้นทุน และสิ่งแวดล้อม ในปี 2566 ได้ดำเนินการติดตั้ง Solar Rooftop ระยะที่ 1 ที่ MOC และด่านดอนเมือง ขนาด 200 กิโลวัตต์ และ ระยะที่ 2 ในครึ่งปีหลังที่อาคารด่านทั้ง 8 ด่าน ประมาณ 180 กิโลวัตต์ ซึ่งจะทำให้ประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ในอัตราร้อยละ 30 นอกจากนี้ยังมีการศึกษาการประหยัดไฟฟ้าบนสายทางยกระดับจากการใช้อุปกรณ์ IoT และ หลอด LED บริเวณทางขึ้นลง คาดการณ์เบื้องต้นจะทำให้ประหยัดไฟฟ้าได้ ประมาณอัตราร้อยละ 30 เช่นกัน รวมไปถึงการเปลี่ยนรถยนต์ทดแทนที่ใช้งานในบริษัทจากเครื่องยนต์สันดาปเป็น EV ตามรอบการเปลี่ยนทดแทน
5. กลยุทธ์ HPO Resilience Management เป็นกลยุทธ์หลักในการยกระดับศักยภาพขององค์กร และบุคลากร ให้มีความยืดหยุ่น ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วจากปัจจัยโดยรอบ ซึ่งจะทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปได้อย่างคล่องแคล่วและสามารถขยายโอกาสต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วตามแผน
6. กลยุทธ์ DMT Excellence Recognition เป็นกลยุทธ์ที่สร้างการรับรู้ความเชี่ยวชาญและผลงานขององค์กร โดยในปีนี้บริษัทเข้าร่วมประเมิน กับหน่วยงาน องค์กรอิสระ ต่างๆ เช่น สถานประกอบการที่สนับสนุนผู้พิการหรือสถานประกอบการที่ส่งเสริมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้ง การเป็นส่วนหนึ่งของ THSI หุ้นยั่งยืน และการกำกับดูแลกิจการที่ดี สร้างความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานเจ้าของสัมปทานคือ กรมทางหลวง ที่จะทำให้องค์กร มีความโดดเด่น และสามารถเป็นตัวเลือกในการให้บริการสัมปทานต่อเนื่องและสัมปทานโครงการใหม่อื่นๆ
7. กลยุทธ์การบริหารเงินสดและต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ เป็นกลยุทธ์ที่ใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทฯ ให้ต่ำลง และบริหารต้นทุนในทุกๆ ด้านให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ลดความเสี่ยงจากความผันผวนทางการเงิน ได้มีการศึกษาในเทคโนโลยีมาใช้งานเพื่อลดต้นทุนได้ในหลายกิจกรรม เช่น เครื่องฝากเงิน ที่ลดต้นทุนการจัดการเงินสดที่ด่านเก็บเงินค่าผ่านทาง เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ค. 66)
Tags: DMT, ทางยกระดับดอนเมือง, ศักดิ์ดา พรรณไวย, หุ้นไทย