นายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) เปิดเผยว่า PTG เตรียมเข้าหารือกับภาครัฐเพื่อหารือปัญหาค่าการตลาดต่ำกว่าระดับกรอบเป้าหมายของคณะกรรมการบริการนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่ 2 บาท/ลิตร ว่าจะมีแนวทางอย่างไรที่จะทำให้ซัพพลายเชนของธุรกิจนี้ได้รับความยุติธรรมเท่าเทียมกันเพื่อให้เดินไปด้วยกันได้ทั้งระบบ
“ค่าการตลาดที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 1.80-2.00 บาท แต่บางช่วงภาครัฐอาจจะปรับการสนับสนุนจากกองทุนน้ำมันไม่ทันกับความผันผวนของราคาน้ำมัน ทำให้ค่าการตลาดไม่เป็นไปตามที่ภาครัฐให้เป้าหมายไว้ ผู้ค้าน้ำมันก็มีหน้าที่ก็ไปคุยกับภาครัฐ”
นายรังสรรค์ กล่าวว่า การอ่อนตัวของค่าการตลาดส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกสูง และราคาน้ำมันหน้าสถานีบริการที่ลดลงไปในช่วงก่อนหน้านี้ปรับตัวขึ้นมาไม่ทัน ขณะที่กองทุนน้ำมันอาจจะปรับเปลี่ยนไม่ทันการณ์ ทำให้ค่าการตลาดอ่อนตัวกว่าที่ภาครัฐให้เป้าหมายไว้ PTG พยายามจะเข้าไปพูดคุยกับทางภาครัฐว่าอย่าไปมองด้านใดด้านหนึ่งใกเกินไป แต่ต้องมองภาพในระยะยาว
“เราเองก็มีส่วนสนับสนุนภาคประชาชนอีกส่วนหนึ่ง ภาครัฐจะสนับสนุนทั้งหมดก็ไม่ได้เพราะถ้าพยุงทั้งหมดภาระหนี้คงเป็นแสนล้านบาท บางสิ่งบางอย่างให้ภาคเอกชนเข้ามา absorb ให้เขามีระยะให้เล่นได้ ภาคประชาชนไม่เดือดร้อน เราในฐานะผู้ค้าน้ำมันก็คุยกันแต่จะไปคุยกับภาครัฐด้วยกันหรือไม่เป็นสิทธิของท่าน แต่เมื่อสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราเดือดร้อน แล้วเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว มีทั้งเจ้าหนี้ ภาคนักลงทุน ลูกค้า เราต้องดูแล พนักงานก็ต้องดูแลจำนวนมาก เพราะฉะนั้นค้องเข้าไปพูดคุยว่า Stake Holder แต่ละส่วนควรต้องได้รับอะไรบ้าง”นายรังสรรค์ กล่าว
นายรังสรรค์ กล่าวว่า PTG ดูแลลูกค้าเชิงพาณิย์ค่อนข้างมาก สัดส่วนการขายดีเซลเป็นหลัก เนื่องจากมีปั๊มน้ำมันกระจายตัวรองรรับทั่วประเทศ โจทย์คือเราจะบริหารอัตราพวกนี้อย่างไร เพราะผู้ค้ารายอื่นที่มีโรงกลั่นอาจจะได้ประโยชน์จากน้ำมันเจ็ท A1 ที่มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมากทำให้ภาพรวมราคาก็ขึ้น แต่เราไม่ได้กลั่นน้ำมันเองทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากส่วนนี้ การบริหารสัดส่วนผลิตภัณฑ์ของเรามีข้อจำกัด ดังนั้นสิ่งสำคัญของ PTG คือเราพยายามลดพอร์ตน้ำมันลง เพิ่มนอนออยล์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะ LPG ที่มีอัตรากำไรดีกว่าน้ำมัน และธุรกิจกาแฟพันธุ๋ไทยที่เร่งเพิ่มสาขาให้เข้าใกล้เข้าหมายให้ได้มากที่สุด
ผลงานในครึ่งปีแรกสัดส่วนการขายนอนออยล์เพิ่มสูงขึ้น และปริมาณการขายน้ำมันก็เพิ่มด้วย แม้ว่าตลาดจะเติบโตแค่ 2-3% แต่ยอดขายน้ำมันของ PTG โตได้ 2 digit ดังน้นในแง่ปริมาณขายไม่มีปัญหา ทำนิวไฮตลอด แต่ค่าการตลาด และการจัดการภาษียังเป็นปัจจัยกดดัน
“เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทน้ำมันค่อย ๆ ล้มหายตายจากไป อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วช่วงที่ภาครัฐเข้ามาคอนโทรล นั่นขนาดว่าไม่ได่ถึงกับขั้นขาดทุน ยังมีกำไรอยู่บ้าง ก็ยังเกิดเหตุการณ์อย่างนั้น” นายรังสรรค์ กล่าว
ส่วนมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตรจะสิ้นสุดลงนั้น นายรังสรรค์ กล่าวว่า ตั้งแต่อยู่ในธุรกิจน้ำมันยังไม่เคยเจอว่าราคาน้ำมันดีดขึ้นทีเดียว 5 บาท หรือภาษีปรับขึ้นทีเดียว 5 บาท อย่างดีก็ทยอยปรับขึ้น 2-3 บาทต่อลิตร ภาครัฐก็จะหาวิธีชดเชยไม่ให้ทุกคนแบกรับ 2-3 บาทไปเลยทันที เชื่อว่าครั้งนี้ก็เหมือนกัน แม้ว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาลดภาษีสรรพสามิตดีเซล แต่ก็เชื่อว่าจะปรับขึ้นทีละ step แต่เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีรัฐบาล ก็คาดว่าการลดเงินนำส่งกองทุนขณะที่เพิ่มอัตราภาษีขึ้นไปยังเป็นกลไกที่สามารถนำมาเป็นทางเลือกของภาครัฐที่เป็นไปได้มากที่สุด
แต่ถ้าภาครัฐต้องเก็บภาษีขึ้นมาทันที 5 บาท ลดเก็บเข้ากองทุน 3 บาท แล้วโยนมาให้บริษัทน้ำมันรับ 2 บาท ก็จะกระทบแน่นอน ทางผู้ค้าก็คงต้องปรับราคาขายปลีกหน้าปั๊มเพื่อให้อยู่ได้ อยู่อย่างขื่นขมไปซักระยะรอการผ่อนคลาย คงไม่มีฟ้ามืดไปตลอดปี และถ้าเรากระทบคนอื่นก็กระทบหมด แม้ผู้ค้าบางรายอาจจะมีสัดส่วนการขายเบนซินมากกว่าแต่อย่างไรก็ไม่ถึง 60% ดีเซลยังเป็นยอดขายหลักอยู่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ค. 66)
Tags: PTG, ตลาดน้ำมัน, ภาครัฐ, ภาษีดีเซล, รังสรรค์ พวงปราง