จีนออกกฎระเบียบควบคุม Generative AI มีผลบังคับใช้ 15 ส.ค.

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า หน่วยงานกำกับดูแลด้านไซเบอร์ของจีน (CAC) ได้ออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้าง (Generative AI) ในวันนี้ (13 ก.ค.) ท่ามกลางความพยายามของจีนในการเพิ่มการควบคุมเทคโนโลยี Generative AI ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

CAC ระบุว่า CAC ได้ร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ๆ เพื่อจัดทำกฎระเบียบใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 สิงหาคม

รายงานระบุว่า Generative AI เป็นเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยสามารถสร้างคอนเทนต์ เช่น ข้อความหรือรูปภาพได้ โดยแชตจีพีที (ChatGPT) ของบริษัทโอเพนเอไอ (OpenAI) จากสหรัฐ เป็นตัวอย่างที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถป้อนคำถามเพื่อขอคำตอบจากแชตบอต

บริการเหล่านี้ได้รับการฝึกฝนจากข้อมูลจำนวนมหาศาล โดยความสำเร็จของ ChatGPT ได้จุดประกายให้บริษัทคู่แข่งเปิดตัวบริการแบบเดียวกัน ก่อให้เกิดความกังวลในกลุ่มหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบทั่วโลกเกี่ยวกับความเสี่ยงจากเทคโนโลยีดังกล่าว

ขณะเดียวกัน บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนต่างเข้าร่วมลงทุนในเทคโนโลยีดังกล่าวเช่นกัน ด้วยการประกาศแผนและเปิดตัวบริการเทคโนโลยี Generative AI ของตนเอง

อย่างไรก็ตาม จีน ซึ่งควบคุมอินเทอร์เน็ตในประเทศอย่างเข้มงวดผ่านการเซ็นเซอร์และกฎระเบียบ กำลังจับตาพัฒนาการของ AI อย่างใกล้ชิด โดยหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบของจีนกังวลว่าบริการเหล่านี้จะสร้างคอนเทนต์ที่อาจขัดแย้งกับมุมมองหรืออุดมการณ์ของจีน

กรณีดังกล่าวเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริษัทเทคโนโลยีจีนระมัดระวังในการเปิดบริการที่คล้ายกับ ChatGPT ดังนั้น บริษัทเทคโนโลยีจีนจึงนำเทคโนโลยีของตนไปใช้กับองค์กรหรือการใช้งานในวงแคบ แทนที่จะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแก่ประชาชนทั่วไป

ในเดือนนี้ อาลีบาบาได้เปิดตัว ทงอี้ ว่านเซี่ยง (Tongyi Wanxiang) เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างรูปภาพจากการสั่งข้อความ แต่จะใช้ได้เฉพาะสำหรับลูกค้าองค์กรเท่านั้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ค. 66)

Tags: ,