สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงกรณีส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐธรรมนูญตามมาตรา 82 วรรคสี่ บัญญัติไว้ ให้ กกต.เป็นผู้ใช้อำนาจโดยตรง สามารถส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้
กรณีดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำอันอาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมิได้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 และ ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2566 มาใช้บังคับ
ทั้งนี้ เมื่อปรากฏว่า สมาชิกภาพของ ส.ส.คนหนึ่งคนใดมีเหตุสิ้นสุดลง กกต.จะดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริง โดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา หรือให้ ส.ส.ผู้มีเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพนั้นมารับทราบข้อกล่าวหา หรือให้มาชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาทั้งสิ้น เพราะบุคคลดังกล่าวสามารถใช้สิทธิของตนเองไปชี้แจงข้อเท็จจริง และเสนอพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้คดีตามบทบัญญัติของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้วางแนวทางในเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว รายละเอียดปรากฏตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 14/2562 เรื่องพิจารณาที่ 10/2562 ลงวันที่ 20 พ.ย.62
ส่วนข้อกล่าวอ้างว่า กกต.เร่งรัดพิจารณาและดำเนินการอย่างเร่งรีบไม่ละเอียดรอบคอบนั้น ขอชี้แจงว่าการดำเนินการของ กกต.เป็นเพียงกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง โดยไม่ได้เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดมีเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพฯ ขอยืนยันว่า กกต. ไม่ได้ดำเนินการอย่างเร่งรีบ หรือเร่งรัดที่จะทำให้เรื่องดังกล่าวเสร็จสิ้นเร็วกว่าปกติ ทั้งนี้ กกต.ได้ใช้ระยะเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว
ดังนั้นการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยเป็นกระบวนการที่ กกต.ปฏิบัติตามมาตรา 82 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันทุกประการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ค. 66)
Tags: กกต., การเมือง, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ศาลรัฐธรรมนูญ, ส.ส., สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, โหวตนายก