เพื่อไทย มติเอกฉันท์ โหวตหนุน “พิธา” เป็นนายกฯ ชี้ยังชอบธรรมจนกว่าศาลรธน.จะมีคำวินิจฉัย

ที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย มีมติเอกฉันท์ ให้ความเห็นชอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรจะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนรีของประเทศไทย ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เชื่อว่า การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีถือหุ้นสื่อของนายพิธา นั้น จะไม่มีปัญหาต่อการโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ ซึ่งกระบวนการโหวตนายกฯ จะดำเนินการไปตามที่ประธานรัฐสภาได้นัดหมายไว้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยยืนยันว่าตราบใดที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัย ก็ถือว่านายพิธา ยังมีคุณสมบัติและมีความชอบธรรมที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ

ส่วนถ้าหากนายพิธา ได้รับการโหวตให้เป็นนายกฯ จะมีปัญหาเรื่องการตีความในภายหลังหรือไม่นั้น นพ.ชลน่าน ขอไม่แสดงความเห็น เนื่องจากเป็นกระบวนการพิจารณาทางกฎหมาย จึงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าผลจะออกมาเช่นไร ดังนั้นต้องรอดูข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนที่ในคำร้องของ กกต.มีระบุว่าให้นายพิธา ยุติการปฏิบัติหน้าที่ด้วยนั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นคำร้องตามปกติที่อาศัยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 82 เมื่อมีคำวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติแล้ว กรณีที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ก็ขอให้ศาลวินิจฉัยให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

ส่วนที่มี ส.ว.ออกมาเตือนว่าหากพรรคการเมืองโหวตให้นายพิธา ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่ามีปัญหาด้านคุณสมบัติ อาจส่งผลให้ถูกยุบพรรคได้นั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ทางพรรคได้มีการปรึกษาหารือกับฝ่ายกฎหมายบ้าง ซึ่งเมื่อดูข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงแล้ว ก็มั่นใจว่าสิ่งที่พรรคทำนั้น ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งประเด็นนี้ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของ ส.ว.บางท่านเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงสถานการณ์ของนายพิธา เพราะในเมื่อ กกต.มีมติเช่นนี้ ยิ่งเป็นเหตุผลให้ ส.ว.ใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่สนับสนุนนายพิธา

“ยอมรับว่าเป็นห่วง เพราะ 8 พรรคร่วมรัฐบาล มีเป้าหมายในการโหวตเลือกนายกฯ ให้สำเร็จลุล่วง เมื่อมีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ต้องยอมรับว่าเราเป็นห่วง และก็เป็นหน้าที่ของพวกเรา ที่ต้องแก้ปัญหาและบรรลุเป้าหมายให้ได้” นพ.ชลน่าน ระบุ

พร้อมย้ำว่า วันพรุ่งนี้ ตนจะทำหน้าที่เสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุม 8 พรรคร่วมให้ดำเนินการ

ส่วนสถานการณ์ชุมนุมนอกรัฐสภาในวันที่ 13 ก.ค.นั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า มีความเป็นห่วง แต่ขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม หากอยู่ในสภาฯ ก็ขอให้ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนผู้ที่มาสนับสนุนหรือมาชุมนุมก็มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ส่วนที่ ส.ว.อาจไม่มาร่วมประชุม ก็เป็นแค่การคาดการณ์ เชื่อว่าแต่ละคนก็รับผิดชอบหน้าที่อยู่แล้ว เพราะเป็นหน้าที่สำคัญ และหากมวลชนชุมนุมอยู่ในกรอบ ส.ว.จะยกเป็นข้ออ้างไม่ได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ค. 66)

Tags: , , , , ,