สหรัฐจ่อออกมาตรการขวางจีนเข้าถึงบริการคลาวด์ ตอบโต้จีนคุมส่งออกโลหะผลิตชิป

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานในวันนี้ (4 ก.ค.) ว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมออกมาตรการควบคุมไม่ให้บริษัทของจีนสามารถเข้าถึงบริการคลาวด์คอมพิวติง (cloud-computing) ของสหรัฐ

แหล่งข่าวเปิดเผยกับวอลล์สตรีท เจอร์นัลว่า หากสหรัฐบังคับใช้มาตรการใหม่นี้ ก็จะทำให้บริษัทที่ให้บริการคลาวด์ในสหรัฐ เช่น อะเมซอนและไมโครซอฟท์ ต้องยื่นขออนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐก่อนที่จะให้บริการคลาวด์คอมพิวติงซึ่งใช้ในการผลิตชิปปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทันสมัยให้กับลูกค้าในประเทศจีน

ทั้งนี้ แหล่งข่าวคาดการณ์ว่า กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มขอบข่ายนโยบายการควบคุมการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ที่เคยบังคับใช้เบื้องต้นในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ รวมทั้งไมโครซอฟท์ และอะเมซอน ยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับรายงานข่าวดังกล่าว

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของสหรัฐมีขึ้นเพียงวันเดียว หลังจากรัฐบาลจีนออกมาตรการควบคุมการส่งออกโลหะกัลเลียม (Gallium) และเจอร์มาเนียม (Germanium) ซึ่งเป็นโลหะที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์, สื่อสารโทรคมนาคม และรถยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จีนออกแถลงการณ์ในวันจันทร์ (3 ก.ค.) ว่า จีนจะควบคุมการส่งออกโลหะกัลเลียมและเจอร์มาเนียม รวมทั้งสารประกอบทางเคมีของโลหะทั้ง 2 ชนิด ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.ปีนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ พร้อมระบุว่า ผู้ส่งออกโลหะทั้ง 2 ชนิดจะต้องยื่นขอใบอนุญาตจากทางกระทรวงหากต้องการที่จะเริ่มส่งออกหรือส่งออกอย่างต่อเนื่องไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ ผู้ส่งออกโลหะทั้ง 2 ชนิดจะต้องยื่นรายงานเพื่อเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ซื้อในต่างประเทศและการยื่นขอใบอนุญาตส่งออก

มาตรการดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่จีนพยายามกุมอำนาจด้านเทคโนโลยีทุกประเภท ตั้งแต่ควอนตัมคอมพิวติง ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการผลิตชิป ขณะที่สหรัฐได้ออกมาตรการเชิงรุกเพิ่มขึ้นเพื่อขัดขวางไม่ให้จีนมีสถานะที่เหนือกว่า พร้อมกับเรียกร้องให้บรรดาชาติพันธมิตรในยุโรปและเอเชียดำเนินการในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ มาตรการควบคุมการส่งออกโลหะดังกล่าวของจีนยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังลดการพึ่งพาอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.ค. 66)

Tags: , , , ,