“ปดิพัทธ์” เชื่อโควต้าเก้าอี้ประธานสภาฯ ได้ข้อยุติก่อนวันโหวต 4 ก.ค.

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล แคนดิเดทประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกลเลื่อนการประชุมหารือตำแหน่งประธานสภาฯ กับพรรคเพื่อไทยออกไปแบบไม่มีกำหนดว่า พรรคก้าวไกลถอยออกมาหลังจากที่พรรคเพื่อไทยประกาศต้องการตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นการเลื่อนเพื่อรอให้คณะเจรจาได้ข้อยุติจึงจะเดินหน้าเจรจาต่อ

ขณะนี้การเจรจายังไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังไม่มีการลงมติเลือก การเจรจาก็ยังสามารถเดินหน้าได้ แต่ด้วยเงื่อนเวลาบีบให้ต้องมีความชัดเจน ซึ่งต้องให้เวลากับคณะเจรจา ซึ่งพรรคก้าวไกล ได้เตรียมพร้อมสำหรับการทำหน้าที่ประธานสภาฯ

นายปดิพัทธ์ เชื่อว่าจะสามารถหาได้ข้อสรุปทันก่อนที่จะโหวตในวันที่ 4 ก.ค.นี้ พร้อมยกตัวอย่าง ก่อนสร้างบ้าน อาจจะมีการทะเลาะเรื่องพิมพ์เขียวให้เรียบร้อย หากปรับแบบแล้วยังไม่พอใจก็ไม่ต้องสร้าง แต่สุดท้ายก็ต้องมีวันสร้าง นั่นก็คือวันที่มีรัฐพิธีเปิดประชุมสภา

“แนวโน้มและเสียงโหวตที่ประชาชนมอบให้ ยังไง 2 พรรคนี้ก็ต้องหาทางตกลงกันให้ได้อยู่แล้ว”

ส่วนประเด็นนี้จะทำให้พรรคเพื่อไทยและก้าวไกลแตกกันหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ในฝั่งของก้าวไกล เป้าหมายใหญ่คือการฟอร์มรัฐบาล และจะไม่ยอมให้ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งมาทำให้เป้าหมายนี้เสียไป อย่างไรก็ตาม เป็นสิทธิ์ของแต่ละฝ่ายที่จะวิพากษ์วิจารณ์ถึงตัวบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ตำแหน่งประธานสภาฯ ซึ่งมีข้อเสนอเรื่องประสบการณ์ที่ได้รับเสียงสะท้อนมาจากครั้งก่อน

“คงไม่สามารถพูดได้ว่าจะเป็นประธานสภาฯ ที่ดีที่สุดหรือไว้ใจได้อย่างไร แต่ได้แสดงความพร้อมในการทำหน้าที่และทำงานหนักร่วมกับทุกฝ่าย ซึ่งตามข้อบังคับก่อนที่จะมีการโหวตจะมีการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ชิงตำแหน่ง เชื่อว่าเวทีดังกล่าวจะสามารถแสดงถึงความตั้งใจที่จะสื่อสารกับ ส.ส. แต่ทั้งหมดนั้นจะต้องได้ข้อยุติที่ทีมเจรจาก่อน”

นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลได้แบ่งหน้าที่ 3 ทีม ประกอบด้วย ทีมเจรจา ทีมฟอร์มรัฐบาล และทีมฟอร์มสภา ซึ่งจะมีการพูดคุยเรื่องตัวบุคคลที่วางไว้ อาจจะสลับสับเปลี่ยนกันบ้าง และในทีมสภาก็มีการทำงานร่วมกัน ต้องวางระบบการทำงานของรัฐสภา แต่ท้ายที่สุดชื่อของตนถูกนำเสนอโดยคณะกรรมการบริหารพรรค และประกาศให้ที่ประชุม ส.ส.ได้รับทราบ

ทั้งนี้ ตนมีความมั่นใจว่าหากได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ จะสามารถทำหน้าที่ได้ เพราะเชื่อว่า ส.ส.ทุกคนมีวุฒิภาวะ และอาจไม่ต้องให้ความเคารพที่ตัวของตนเอง แต่ต้องเชื่อและปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมสภาที่ถือเป็นกฎหมาย และเคารพรัฐธรรมนูญ หากทุกคนอยู่ในกติกาได้ เชื่อว่า การทำตามกติกาสามารถทำให้ควบคุมการประชุมได้ และจะเปิดกว้างในการผลักดันกฎหมายของทุกพรรค โดยจะลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคและไม่ร่วมประชุม ส.ส.ของพรรค เพื่อรักษาความเป็นกลาง พร้อมเปิดรับการเสนอกฎหมายจากทุกพรรคและประชาชนด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มิ.ย. 66)

Tags: , ,