นายประภัสร์ จงสงวน แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะอดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย และอดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะรับทราบมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่เห็นชอบให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (ARL) จำนวน 10,671.09 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาส ออกเป็น 7 งวด และแก้ไขสัญญาร่วมทุนเงื่อนไขเหตุสุดวิสัย กรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรคหรือมีสงครามที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ
เนื่องจาก ครม.ชุดนี้ เป็นรัฐบาลรักษาการ จะไม่มีอำนาจแล้ว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า นำเสนอ ครม.เพื่อทราบ แท้จริงแล้วคือ การอนุมัติตามกฎหมายของอีอีซีใช่หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นจริงจะสร้างปัญหาให้กับโครงการ และสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลชุดใหม่เป็นอย่างมาก เพราะโดยหลักของทางราชการ สัญญาที่ลงนามไปแล้วไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญ โดยคณะกรรมการอีอีซีที่ดูแลโครงการรถไฟฟ้า 3 สนามบินที่เสนอ ครม.เพื่อทราบนั้นเป็นสาระสำคัญทั้งสิ้น โดยเฉพาะการจ่ายเงินช่วยเหลือให้บริษัทผู้ได้รับสัมปทาน (บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด) คู่สัญญาโครงการรถเชื่อม 3 สนามบิน จากเดิมตามสัญญาคือ “จ่ายเงินเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ” เปลี่ยนเป็น “จ่ายตั้งแต่เริ่มดำเนินการก่อสร้าง” ทั้งนี้ตนทราบมาว่าการแก้ไขสัญญาการก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน หัวใจสำคัญของโครงการนี้ คือการใช้ประโยชน์จากที่ดินมักกะสัน ไม่ใช่การก่อสร้างรถไฟฟ้าใช่หรือไม่
สัญญาการก่อสร้างดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2563 จนวันนี้ยังไม่มีการเริ่มก่อสร้าง หรือตอกเสาเข็ม ซ้ำยังมีประเด็นพิพาท รวมถึงประเด็นการส่งมอบแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งตามสัญญาต้องจ่ายเงินการส่งมอบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แต่กลับพบว่า มีการส่งมอบรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ไปแล้ว แต่จ่ายเงินเพียง 10% ส่วนเงินที่เหลืออีก 90% อยู่ในรายละเอียดของการแก้ไขสัญญาข้างต้น หากไม่พิจารณาอย่างถ่องแท้หรือทำไปโดยความกดดันจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐยิ่งกว่ากรณีค่าโง่โฮปเวลล์ จึงอยากให้ทุกฝ่ายพิจารณาเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วนด้วย
“เรื่องนี้หากเป็นจริง คงเป็นกระบวนการที่ไม่ค่อยถูกต้องเท่าไหร่ ผมเชื่อว่าเมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาทำงาน ผู้ที่เข้ามาดูแลกระทรวงคมนาคมจะพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งว่าเกิดอะไรขึ้น และเหตุผลที่แท้จริงที่ไม่สามารถก่อสร้างโครงการได้ แม้จะอ้างว่าเพราะสถานการณ์โควิด แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง และจนถึงปัจจุบันสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงมากแล้วจนเป็นโรคประจำถิ่น เหตุใดจึงไม่เร่งก่อสร้าง เหตุใดต้องแก้สัญญา” นายประภัสร์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มิ.ย. 66)
Tags: ประภัสร์ จงสงวน, พรรคเพื่อไทย, รถไฟความเร็วสูง, ไฮสปีดเทรน