นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบฯ และการใช้จ่ายภาครัฐ ครั้งที่ 1/2566 มีการรายงานการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ-31 มี.ค.66 ดังนี้
1.ภาพรวมการเบิกจ่ายเงินประจำปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณถึงวันที่ 31 มี.ค.66 มีการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 1,955,667 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณ/แผนการใช้จ่ายทั้งสิ้น 3,664,673 ล้านบาท คิดเป็น 53.37% ดังนี้
– งบฯ ประจำปีงบประมาณ 2566 เบิกจ่ายแล้ว 1,691,980 ล้านบาท คิดเป็น 53.12%
– เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี เบิกจ่ายแล้ว 103,443 ล้านบาท คิดเป็น 54.34%
– เงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมเงินงบฯ) เบิกจ่ายแล้ว 111,385 ล้านบาท คิดเป็น 50.07%
– โครงการภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พ.ศ.2563 (กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท) เบิกจ่ายแล้ว 421 ล้านบาท คิดเป็น 51.34%
– โครงการภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไข ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 (กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท) เบิกจ่ายแล้ว 48,438 ล้านบาท คิดเป็น 73.34%
ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2566 มีโครงการลงทุนที่มูลค่าโครงการตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป รวม 112 โครงการ มูลค่าโครงการทั้งหมด 2.68 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 68,817 ล้านบาท คิดเป็น 46.12% ของแผนการใช้จ่ายเงิน (1 ต.ค.65-31 มี.ค.66)
2.ผลการเบิกจ่ายเงินงบฯ รายจ่าย (จากระบบ GFMIS)
2.1 ผลการเบิกจ่ายเงินงบฯ รายจ่าย เบิกจ่ายแล้วจำนวน 1.69 พันล้านบาท คิดเป็น 53.12% สูงกว่าเป้าหมาย 52% ใช้จ่ายแล้ว (ก่อหนี้ผูกพันแล้ว) จำนวน 1.87 พันล้านบาท คิดเป็น 58.74% สูงกว่าเป้าหมาย 56.24% ดังนี้
– รายจ่ายประจำ เบิกจ่ายแล้ว 1,459,291 ล้านบาท (57.88%) ใช้จ่ายแล้ว (ก่อหนี้ผูกพันแล้ว จำนวน 1,472,082 ล้านบาท (58.39%)
– รายจ่ายลงทุน เบิกจ่ายแล้ว 232,689 ล้านบาท (35.05%) ใช้จ่ายแล้ว (ก่อหนี้ผูกพันแล้ว 398,695 ล้านบาท (60.06%)
2.2 งบฯ ที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี เบิกจ่ายแล้ว จำนวน 103,443 ล้านบาท คิดเป็น 54.34% มีการใช้จ่ายแล้ว (ก่อหนี้ผูกพันแล้ว) จำนวน 104,774 ล้านบาท คิดเป็น 55.04%
กรมบัญชีกลางรับข้อสังเกตกรณีการอุทธรณ์ที่ไม่สมเหตุผล ทำให้หน่วยงานของรัฐเสียโอกาสจากการดำเนินโครงการล่าช้า ควรกำหนดมาตรการลงโทษ โดยขึ้น Blacklist ผู้อุทธรณ์หรือฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้อุทธรณ์กรณีดังกล่าว
3.การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
3.1 รัฐวิสาหกิจมีผลการเบิกจ่ายงบ ลงทุนจำนวน 77,154 ล้านบาท จากแผนการเบิกจ่าย 67,628 ล้านบาท คิดเป็น 114% ของแผนการเบิกจ่าย โดยรัฐวิสาหกิจปีงบฯ มีผลการเบิกจ่าย 55,003 ล้านบาท จากแผนการเบิกจ่าย 50,381 ล้านบาท คิดเป็น 109% และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทินมีผลการเบิกจ่าย 22,151 ล้านบาท จากแผนการเบิกจ่าย 17,247 ล้านบาท คิดเป็น 128%
3.2 ผลการดำเนินการตามมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เช่น (1) รัฐวิสาหกิจปีงบฯ และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทินส่วนใหญ่มีการลงนามในสัญญาแล้ว คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 80% และ 65% ของกรอบงบลงทุน ตามลำดับ และ (2) รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ มีประมาณการการเบิกจ่ายงบลงทุนในไตรมาสที่ 4 สูงกว่า 35% ของกรอบงบลงทุน แต่พบว่ามีรัฐวิสาหกิจปีงบฯ จำนวน 20 แห่งที่มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนในรอบ 6 เดือนแรกต่ำกว่า 35% ของกรอบงบลงทุน และมีประมาณการการเบิกจ่ายงบลงทุนในไตรมาสที่ 4 สูงกว่า 35% ของกรอบงบลงทุน
4.โครงการลงทุนที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ มีจำนวน 112 โครงการ มูลค่ารวม 2.68 ล้านล้านบาท มีวงเงินเบิกจ่ายลงทุนในปี 2566 จำนวน 149,203 ล้านบาท โดยโครงการที่รัฐดำเนินการเอง 87 โครงการ ซึ่งมีการลงนามในสัญญาแล้ว 35 โครงการและโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 25 โครงการ มีการลงนามในสัญญาแล้ว 25 โครงการ
5.การเบิกจ่ายโครงการภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ พ.ศ.2563 (กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท) ได้อนุมัติ 1,087 โครงการ วงเงิน 982,228 ล้านบาท โดยมีการเบิกจ่ายแล้วทั้งสิ้น 950,557 ล้านบาท คิดเป็น 97% ของวงเงินอนุมัติ ทั้งนี้ คาดว่าจะคงเหลือเงินกู้ ที่จะนำส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดิน จำนวน 13,896 ล้านบาท
6.การเบิกจ่ายโครงการภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท) อนุมัติโครงการ จำนวน 2,445 โครงการ วงเงิน 499,736 ล้านบาท โดยหน่วยงานเบิกจ่ายแล้วทั้งสิ้น 474,737 ล้านบาท คิดเป็น 95% ของวงเงินอนุมัติ คงเหลือโครงการที่อยู่ระหว่างการเบิกจ่าย จำนวน 190 โครงการ วงเงิน 43,604 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 34,573 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2566 มีแผนการเบิกจ่าย วงเงินรวม 66,045 ล้านบาท ในส่วนโครงการที่พบปัญหาอุปสรรคในขั้นตอนของการดำเนินโครงการ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าและไม่สามารถดำเนินโครงการได้ทันตามระยะเวลาที่ ครม.อนุมัติ ได้มีการขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ และเร่งรัดดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มิ.ย. 66)
Tags: งบประมาณรายจ่าย, ประชุมครม., อนุชา บูรพชัยศรี