แนะเทคนิคอ่านงบ: พบหุ้นดี หนีหุ้นแย่

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ นำเสนอรายงานผ่านความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เรื่อง “เทคนิคอ่านงบ: พบหุ้นดี หนีหุ้นแย่” โดยระบุว่า เทคนิคอ่านงบแบบกระชับ 5 ข้อ ได้แก่ 1) รายงานความเห็นของผู้สอบบัญชี 2) ดูการเติบโตของรายได้ กำไรสุทธิ สินทรัพย์ 3) ดูตัวเลขที่แสดงว่าบริษัทนี้มีคุณภาพกำไรในอัตราที่ดีหรือไม่ เช่น Net Profit Margin, ROE 4) ความเสี่ยงและสภาพคล่องทางการเงิน และ 5) ตรวจตัวเลข ลูกหนี้ สินค้าคงเหลือ

งบการเงินเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่ใช้ในการวิเคราะห์หุ้น ซึ่งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทางปัจจัยพื้นฐาน จำเป็นต้องนำข้อมูลงบการเงินมาร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ในการคัดเลือกเบื้องต้นหาหุ้นที่มีแววว่าจะดีเพื่อนำไปศึกษาวิจัยต่อ และเมื่อต้องศึกษาต่อ ก็ต้องใช้ข้อมูลงบการเงินบริษัทอย่างละเอียด เป็นจุดตั้งต้นในการไปทำโมเดลการประมาณการ โดยต้องไปค้นข้อมูลทางเศรษฐกิจ ข้อมูลทางธุรกิจและอุตสาหกรรมโดยรวม การไปสัมภาษณ์ผู้บริหารเพื่อประเมินวิสัยทัศน์ ความสามารถ และความตั้งใจที่บริษัทจะมุ่งหน้าไป เป็นต้น จากนั้นจึงทำประมาณการงบการเงินในอนาคต ต่อด้วยการประเมินเป็นมูลค่าหุ้น

สำหรับในมุมของนักลงทุนนั้น ก็สามารถใช้ประโยชน์จากงบการเงินได้เป็นอย่างมาก ทั้งในระดับการอ่านจุดสำคัญๆ อย่างรวดเร็ว หรือการอ่านอย่างละเอียดที่ต้องใช้เวลามากก็ตาม ซึ่งทางเว็บไซต์ของ SET และ settrade ก็ได้จัดข้อมูลให้ครบทั้ง งบแบบสรุป และแบบละเอียดครบทุกบรรทัดให้อย่างจุใจทุกหุ้นในตลาด ขาดเพียงรายที่มีปัญหาไม่ส่งงบเท่านั้นเอง

วันนี้ สมาคมนักวิเคราะห์ฯ ขอแนะวิธีการดูข้อมูลงบการเงินในจุดสำคัญๆ ไม่ใช่ตำราการวิเคราะห์งบการเงินฉบับเต็ม ที่ต้องเขียนเป็น 100 หน้า และอ่านนานเป็นวันๆ แต่จะสรุปเฉพาะจุดสำคัญที่ท่านควรดูเป็นขั้นต่ำ โดยไม่ใช้เวลามากจนหมดกำลังใจที่จะอ่านต่อ สามารถเห็นได้ว่าหุ้นที่ดูนั้นเป็นหุ้นดีที่น่าสบายใจ หรือเป็นหุ้นแย่ที่มีจุดเสี่ยงจุดเปราะที่ควรหลีกเลี่ยง

จุดสำคัญของงบการเงินที่ควรจะดูเป็นขั้นต่ำ ได้แก่

1.รายงานความเห็นของผู้สอบบัญชี แม้ว่าจะค่อนข้างยาว โดยส่วนหนึ่งเป็นการแจงของผู้สอบบัญชีว่าได้สอบถามตรวจทานมาอย่างไร และกล่าวถึงว่า ผู้บริหารเป็นผู้รับผิดชอบการจัดทำงบ เป็นต้น

จุดที่สำคัญที่สุดที่ต้องหาให้ได้คือ ถ้อยคำว่า “งบการเงินนี้ถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน” หรือ “ไม่พบสิ่งที่เป็นเหตุให้เชื่อว่าข้อมูลทางการเงินดังกล่าวไม่ได้จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการบัญชี” แต่ถ้าอ่านเจอคำว่า “ข้าพเจ้าไม่สามารถแสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัท” แบบเดียวกับหุ้นที่กำลังโด่งดังอยู่ขณะนี้ ต้องเลี้ยวหนีทันที

นอกจากนั้น ในรายงานผู้สอบบัญชี ให้ดูต่ออีกนิดว่ามี “ข้อสังเกต” หรือไม่ ถ้ามีก็ควรอ่านดูว่าประเด็นข้อสังเกตนั้นทำให้เรากังวลหรือไม่กังวล

แต่ถ้าใครอยากได้ตัวช่วยสรุปความเห็นผู้สอบบัญชีเร็วขึ้นไปอีก ให้ไปดูจาก Factsheet ในเว็บไซต์ของ settrade เขาได้ช่วยสรุปความเห็นผู้สอบบัญชีไว้ให้เรียบร้อยสั้นๆ เช่น ไม่มีเงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไขและมีข้อสังเกต เป็นต้น

2.ดูการเติบโตของรายได้ กำไรสุทธิ สินทรัพย์ ควรใช้ตัวช่วยจากตัวเลขสรุป 5 งวดปี ที่เว็บไซต์ SET และ settrade ช่วยนำข้อมูลมาเรียงเป็นตารางให้เรียบร้อย

ธุรกิจโดยทั่วไปที่ไม่ใช่หุ้นวัฏจักรแบบเข้มข้น (Cyclical Stock) ควรมีแนวโน้มเติบโตให้เห็นได้ จากการเรียงข้อมูลประมาณ 5 ปี โดยไม่จำเป็นต้องโตทุกปีก็ยอมรับได้ เพราะการลดหย่อนนิดๆ หน่อยในบางปีไม่ใช่เรื่องแปลกในประเทศที่เศรษฐกิจไม่ได้เติบโตมากแบบไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และคิดว่าอาจต้องยอมเว้นวรรคข้ามการดูปี 2563 และ 2564 ที่เป็นช่วงวิกฤตโควิดอย่างหนักจนตั้งหลักไม่ทันครับ เพราะไม่ใช่สิ่งที่เกิดได้บ่อยๆ

การเรียงข้อมูลเทียบแค่ 2 ปี หรือ 3 ปี ไม่เพียงพอให้เห็นทิศทางที่ผ่านมาว่าเติบโตหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหุ้นธุรกิจวัฏจักรเข้มข้น เช่น ปิโตรเคมี น้ำมัน โลหะ สินค้าเกษตร สายการบิน เป็นต้น ทั้งนี้ หุ้นวัฏจักรแบบเข้มข้น จะมีพฤติกรรมราคาสินค้าและกำไรผันผวนมากเป็นวัฏจักร ช่วงที่ดีจะขึ้นแรงจนตะลึงประมาณ 2 ปี แล้วสลับด้วยการดิ่งเหวประมาณ 2 ปี ยามลงแรงอาจถึงขั้นผลดำเนินงานขาดทุน แล้วก็จะกลับเข้าสู่วงจรขาขึ้นรุนแรงใหม่ สลับกันเช่นนี้ไปเรื่อย ดังนั้น ใครเอางบแค่ 2-3 ปี มาดูก็จะเข้าใจผิดว่าเป็นหุ้นเติบโตสูง หรือในช่วงแย่ก็นึกว่าเป็นหุ้น Sunset คือ ชีวิตธุรกิจจบสิ้นแล้ว ซึ่งจะกลายเป็นการมองผิดพลาดเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเรียงงบ 5 ปี ก็จะเห็นได้ถึงพฤติกรรมของวัฏจักรได้ชัดเจน

ตัวเลขยอดรายได้ และกำไรสุทธิที่นำมาดู ควรเป็นรายได้และกำไรที่เป็นปกติของการดำเนินธุรกิจ ไม่ใช่ฟลุคที่เป็นรายการพิเศษครั้งเดียว เช่น ขายที่ดินกำไรครั้งเดียวโดยไม่ได้มีอาชีพจัดสรรที่ดิน หรือกำไรจากการแก้ไขปัญหาหนี้แล้วเจ้าหนี้ลดหนี้ให้ เป็นต้น

3.ดูตัวเลขที่แสดงว่าบริษัทนี้มีคุณภาพกำไรในอัตราที่ดีหรือไม่ นอกเหนือไปจากเราจะดูตัวเลขกำไรสุทธิ กำไรต่อหุ้น ที่อยู่บรรทัดล่างของงบกำไรขาดทุนแล้ว คงต้องเอาตัวเลขมาหารหาอัตราส่วนกำไรด้วย เช่น กำไรสุทธิหารด้วยยอดรายได้ (Net Profit Margin) กำไรสุทธิหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE)

ธุรกิจที่ดี ควรมีอัตรากำไรที่สูง และเทียบยาวๆ 5 ปี อัตรากำไรไม่หดแคบลง

ถ้ามีเวลาอีกนิด น่าจะลองไปดูของคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันจะเห็นได้ชัดขึ้นบ

ควรเลี้ยวไปเหลือบมองงบกระแสเงินสดสักนิด ในบรรทัดที่เขียนว่า เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน หรือพูดง่ายๆ คือ เงินสดจากกำไรของกิจกรรมค้าขายที่บวกกับบรรดาค่าเสื่อมราคาที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่ต้องเงินออกไป (เพราะซื้อมาก่อนแล้ว) และไม่รวมการลงทุนต่างๆ ไม่รวมการกู้ยืมหรือคืนเงินกู้

ในบางรายที่โชว์ว่ามีกำไรสุทธินั้น แต่พอไปดูบรรทัดเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงานกลับติดลบ กรณีนี้ ถ้าเรายังจะสนใจหุ้นนี้ ก็คงต้องเพิ่มการบ้านให้ไปเจาะดูเพิ่มอีก เช่น ดูว่ามียอดลูกหนี้สูงขึ้นมากใช่ไหม หรือสต็อคสินค้าคงเหลือในบริษัทพุ่งขึ้น จึงทำให้ตัวเลขกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานติดลบ ถ้าเป็นเช่นที่ว่านี้ ดูไม่สวยงามนัก ท่านอาจต้องพิจารณาเพิ่มให้ดีว่า ลูกหนี้มีปัญหาค้างชำระเกินสมควรหรือไม่ และทำไมสต็อกวัตถุดิบและสินค้าพุ่ง เป็นเพราะขายไม่ออกหรือไม่

กรณีที่กล่าวไปนี้ เรายังไม่นับรวมกรณีตุกติกทางบัญชี ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะจับทันได้ทั้งหมดจากการดูในงบการเงินที่แจ้งออกมา นักลงทุนและนักวิเคราะห์คงต้องพยายามเลือกหุ้น โดยค้นหาประวัติและพฤติกรรมที่ผ่านมาของผู้บริหาร ทีมงาน กรรมการ และผู้ถือหุ้นหลัก ซึ่งก็คงกรองได้เพียงบางส่วนเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายที่เขาเนียนกริ๊บ แสดงหลักฐานว่ามียอดขาย มีใบเสียภาษีต่างๆ ยืนยันอีกด้วย

4.ความเสี่ยงและสภาพคล่องทางการเงิน โดยหลักแล้ว บริษัทที่มีหนี้น้อย ส่วนของทุนมาก และบริหารโครงสร้างการเงินดี ย่อมมีความเสี่ยงที่ต่ำ มีแรงทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอหรือถดถอยได้ดี ให้ดูอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) ตัวเลขที่ต่ำเป็นตัวเลขที่สบายใจในแง่ความเสี่ยงทางฐานะการเงิน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่แข็งแรงและมีการเติบโตดีจริง อาจไม่ใช้สัดส่วนนี้ต่ำมากๆ เนื่องจากความจำเป็นต้องขยายงาน และในความเป็นจริง ต้นทุนดอกเบี้ยกู้นั้น ต่ำกว่าต้นทุนที่ถูกเรียกร้องจากส่วนของผู้ถือหุ้น (Cost of Equity ) ดังนั้น เราอาจเห็นบริษัทดีๆ มีสัดส่วนเกิน 1 เท่าไปบ้าง อาจจะใกล้ 2 เท่าก็ไม่ต้องตกใจ แต่หากเห็นกิจการที่กำไรไม่ค่อยดี แล้วมีระดับ D/E 3-4 เท่า อันนี้น่าเสียวไส้ เพราะเป็นการแบกความเสี่ยงทางการเงินที่สูงเมื่อเทียบกับพลังในการสร้างกำไรมาจ่ายคืนหนี้ และหากมีสถานการณ์ธุรกิจชะลอหรืออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นไปมาก ภาระนี้ก็คงหนักหนาขึ้น โอกาสทำกำไรก็จะยิ่งยากเป็นเท่าตัว

ในเรื่องหลักเกณฑ์อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนใกล้ 1 เท่านี้ ไม่ไปใช้กับธุรกิจธนาคาร ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องระดมหนี้จากเงินฝาก เอามาเป็นสินค้าที่เอาไปขาย (ปล่อยกู้) และกินส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ทำให้อัตราส่วนจะไปเกือบ 10 เท่า วิธีวิเคราะห์งบธนาคารจะมีหลักเกณฑ์และรายละเอียดแตกต่างไปจากธุรกิจอื่นมาก ในวันนี้เรายังไม่เข้าไปเขียนถึง

กรณีที่ค่า D/E สูง อาจต้องดูอัตราส่วนสภาพคล่องการเงินระยะสั้นอีกสักนิด ที่เรียกว่า Current Ratio นั่นคือ ในงบดุล ให้เอาบรรทัดสินทรัพย์หมุนเวียนมาหารด้วยหนี้สินหมุนเวียน โดยทั่วไปเราคงต้องการให้เกิน 1 เท่า เพื่อให้พอหมุนเวียนจ่ายหนี้ระยะ 1 ปีทัน เงินไม่ช็อตไปเสียก่อน แต่ถ้าจะเอาให้ชัวร์ ควรไปถึงขั้นใช้ Quick Ratio คือ สินทรัพย์หมุนเวียนที่ไม่นับรวมสินค้าคงเหลือในมือ แล้วหารด้วยหนี้สินหมุนเวียนแบบเต็มคาราเบล ตัวเลขก็จะต่ำกว่า Current Ratio ลงไปบ้าง ซึ่งเป็นวิธีที่คัดกรองความเสี่ยงทางสภาพคล่องได้มั่นใจขึ้น โดยเฉพาะกรณีของกิจการที่แอบมีสินค้าคงเหลือเกินปกติ ถ้าคำนวณ Quick Ratio ตัวเลขจะลดฮวบลงมาเยอะเช่น Current Ratio อยู่ที่ 1.1 แต่ Quick Ratio ทรุดมาที่ 0.7 เป็นต้น

5.ตรวจตัวเลข ลูกหนี้ สินค้าคงเหลือ ว่าดูเป็นปกติดี ตัวเลขเหล่านี้ถ้าดูอันตราย มักเป็นจุดเริ่มต้นของหุ้นที่จะมีปัญหา

ปกติจะมีตัวเลขที่ขยายสอดคล้องไปกับการเติบโตของการขาย ซึ่งอาจเร็วช้ากว่ากันนิดหน่อยได้ แต่กรณีที่ต้องระวัง คือการพุ่งขึ้นพรวดพราดของยอดลูกหนี้ และหรือสินค้าคงเหลือ เช่น ยอดขายเพิ่มขึ้น 10% แต่ยอดลูกหนี้พุ่งขึ้น 70% ลองไปดูคำอธิบายในเอกสาร คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ (MD&A) ที่เขาส่งมาพร้อมงบการเงินอาจอธิบายไว้ในนั้น ต้องชั่งใจดูว่า คำอธิบายสมเหตุผลน่าสบายใจไหม และถ้าไม่มีคำอธิบาย เราต้องระวัง

ลองคำนวณตัวเลขลูกหนี้เทียบระยะเป็นจำนวนวันหรือเดือนของการขาย เช่น ถ้ามียอดขาย ปีละ 2,400 ล้านบาท เท่ากับเฉลี่ยได้เดือนละ 200 ล้านบาท แต่มียอดลูกหนี้พุ่งขึ้นเยอะเป็น 1,200 ล้านบาท เมื่อเอายอดลูกหนี้หารด้วยยอดขายต่อเดือน ปาเข้าไปประมาณ 6 เดือน ถือว่าค้างกันนานมาก ลองมองปีก่อนเทียบกันว่าพุ่งมาจากระดับกี่เดือน และหรือดูลักษณะธรรมชาติทางธุรกิจของเขาว่าเป็นการขายของเงินผ่อนประชาชนหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็แสดงว่าอาจมีปัญหาลูกหนี้เกิดขึ้น

คำนวณตัวเลขสินค้าคงเหลือว่าค้างผิดปกติหรือไม่ โดยเทียบระยะเป็นจำนวนวันหรือเดือนของต้นทุนสินค้าขาย โดยทั่วๆ ไป น่าจะคงเหลือไว้ไม่นานไปกว่า 2-3 เดือน ขึ้นกับลักษณะธุรกิจ ถ้าคงเหลือค้างนานเท่ากับรอขายครึ่งปี แบบนี้ต้องไตร่ตรองดีๆ ว่ามีคำอธิบายที่สมเหตุผลหรือไม่ ผมจำได้ว่าเคยมีเคสที่มีปัญหา เป็นหุ้นในอดีตรายหนึ่งเมื่อสัก 15 ปีก่อน ที่ทำธุรกิจโชว์รูมรถหรูนำเข้า มียอดสินค้าคงเหลือนาน 6-7 เดือน ซึ่งก็รู้สึกแปลกใจมาก เพราะโดยทั่วไปน่าจะเป็นการจองโดยมีแค่รถโชว์ไม่กี่คัน ซึ่งต่อมาหุ้นนี้มีปัญหามากมายหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องสินค้าคงคลังกลายเป็นสินค้าทิพย์เกือบทั้งหมด คือไม่มีสต็อกอยู่จริง

ทั้งหมดนี้ เป็นเทคนิคอ่านงบแบบกระชับ 5 ข้อ ที่หวังว่าจะช่วยให้นักลงทุนได้นำไปใช้คัดกรองให้ได้หุ้นที่ดี หนีหุ้นที่แย่ได้พอสมควร และหากว่านักลงทุนอยากสบายง่ายกว่านี้ แนะนำให้อ่านบทวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐานของนักวิเคราะห์ที่มีใบอนุญาตในสังกัดบริษัทหลักทรัพย์ ที่ได้ร่วมกันส่งข้อมูลดังกล่าวมาให้สมาคมนักวิเคราะห์ฯร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมไว้ภายใต้หัวข้อ ผลสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ (IAA Consensus) อยู่ในเว็บไซต์ settrade กว่า 300 หุ้น ดูตาม Link นี้ https://www.settrade.com/th/research/iaa-consensus/main

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 มิ.ย. 66)

Tags: , , , , ,