พาณิชย์-EXIM BANK-ปปง. หนุนปราบปรามการแพร่ขยายอาวุธทำลายล้างสูง

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WEAPONS OF MASS DESTRUCTION : WMD) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือ และบูรณาการการทำงานระหว่าง 3 หน่วยงาน ในหลากหลายมิติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมกันยกกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ขยาย WMD ของไทยให้มีประสิทธิภาพครอบคลุม ทั้งทางด้านสินค้ และการเงินการธนาคาร

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ 1540 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นานาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งจะมีส่วนในการยกระดับผลการประเมินมาตรฐานสากลของประเทศไทย ในการป้องกันและปราบปรามการแพร่ขยาย WMD ของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force: FATF) ซึ่งประเทศไทย มีกำหนดเข้าร่วมการประเมินอีกครั้ง ในปี 2569 เพื่อให้ประเทศไทยได้รับผลการประเมินที่ดีขึ้น อันจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นแก่ภาคการเงิน การธนาคาร และภาคเอกชนของไทยในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ด้านนายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า EXIM BANK จะบูรณาการความร่วมมือกับ คต. และ ปปง. เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และให้ข้อมูลข่าวสารแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไทย ให้กำหนดและดำเนินตามนโยบายและคู่มือการปฏิบัติงานด้าน AML/CFT/WMD อย่างเคร่งครัด โดยตระหนักถึงภัยร้ายแรงของปัญหาดังกล่าว มีแนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงภายในองค์กรที่ชัดเจนและนำไปสู่การปฏิบัติจริง

รวมทั้งทบทวนและปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะการควบคุมการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) เนื่องจากปัจจุบันอาวุธยุทโธปกรณ์ และกำลังพลมีปริมาณลดลง และกำลังถูกแทนที่ด้วยอาวุธทันสมัยที่ดัดแปลงมาจากสิ่งที่พลเรือนใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้การควบคุมอาวุธระหว่างประเทศ ถูกรวมเข้ากับการควบคุมการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ นานาประเทศ รวมทั้งประเทศไทย

ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับการควบคุม และป้องกันการนำเอาวัสดุที่ไม่ใช่อาวุธโดยสภาพ มาใช้เป็นอาวุธในการก่อการร้ายมากขึ้น อาทิ การนำส่วนประกอบของปุ๋ยมาใช้เป็นวัตถุในการผลิตระเบิด การใช้แก๊สบางชนิดในการก่อวินาศกรรม และการนำเอาวัสดุไทเทเนียมในหัวไม้กอล์ฟ มาใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตจรวดหรือขีปนาวุธ เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนานาชาติต่อภาครัฐและภาคเอกชนของไทย ทำให้การดำเนินธุรกิจและภารกิจขององค์กรนำไปสู่การส่งเสริมการค้าการลงทุน การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยและโลกโดยรวมอย่างแท้จริง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มิ.ย. 66)

Tags: , , , ,