สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ยุโรป (ACEA) ระบุในวันนี้ (20 มิ.ย.) ว่า กฎเกณฑ์ต่าง ๆ หลังเบร็กซิต (Brexit) ที่บังคับให้ผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปจัดหาชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าจากอังกฤษหรือสหภาพยุโรป (EU) มากขึ้นนั้น อาจทำให้ต้นทุนด้านภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นสูงถึง 4.3 พันล้านยูโร (4.7 พันล้านดอลลาร์) และอาจจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตด้วย
ข้อตกลงการค้าระหว่างสหราชอาณาจักร (UK) และ EU หลังเบร็กซิตระบุว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะต้องมีชิ้นส่วนประกอบจากประเทศใน EU หรือ UK ที่ระดับ 45% ตั้งแต่ปี 2567 และมีข้อกำหนดให้ใช้เซลล์ (cells) และชุด (packs) ของแบตเตอรีของ EU หรือ UK ที่ระดับ 50-60% มิฉะนั้นจะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจาก UK หรือ EU ที่ระดับ 10%
ACEA ได้เรียกร้องในวันนี้ให้เลื่อนการบังคับใช้กฎนี้ออกไปเป็นเวลา 3 ปี โดยให้เหตุผลว่าต้องใช้เวลาในการผลิตแบตเตอรี่ในยุโรป ซึ่งในขณะนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ต่าง ๆ ยังคงต้องพึ่งพาเซลล์แบตเตอรี่และวัสดุต่าง ๆ ที่นำเข้าจากเอเชีย
ACEA ประมาณการว่าผู้ผลิตในยุโรปจะต้องจ่ายภาษีนำเข้า 4.3 พันล้านยูโรให้กับรัฐบาลอังกฤษเป็นเวลา 3 ปีภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่นี้ เนื่องจาก UK มีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของตลาดส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของ EU ซึ่งอาจลดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของ EU ลงมากถึง 480,000 คัน
ACEA ได้เขียนถึงคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อต้นเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อขอให้ทบทวนกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (rules of origin) สำหรับแบตเตอรี่และตกลงกับอังกฤษเกี่ยวกับการเลื่อนเวลาบังคับใช้กฎเกณฑ์เป็นเวลา 3 ปี
สมาชิก ACEA คาดว่า จะมีรถยนต์ไฟฟ้าเพียง 10% เท่านั้นที่จะสามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ใหม่ได้ภายในปี 2567 ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตต่าง ๆ ใน EU มีแนวโน้มที่จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งจากจีนและประเทศที่สามอื่น ๆ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มิ.ย. 66)
Tags: Brexit, ผู้ผลิตรถยนต์, ภาษี, รถยนต์ไฟฟ้า, ศุลกากร, สหภาพยุโรป, สหราชอาณาจักร, อังกฤษ, เบร็กซิต