นักวิชาการคาดรัฐบาลใหม่อาจมีงบปี 67 ไม่พอสนองรัฐสวัสดิการ แนะทยอยทำช่วงปี 68-70

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังเปิดเผยว่า คาดรัฐบาลใหม่ปรับงบประมาณปี 2567 สนองรัฐสวัสดิการได้แค่ 2 แสนล้านบาท โดยต้องไปปรับลดงบประมาณในส่วนที่สามารถพอปรับลดได้ในกระทรวงและส่วนราชการต่างๆ ขาดอีกอย่างน้อย 4.5 แสนล้านบาท

หากต้องการจัดสรรให้ครบถ้วนตามนโยบายรัฐสวัสดิการที่หาเสียงเอาไว้ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินประมาณ 6.5 แสนล้านบาท ต้องปรับลดงบกลางฉุกเฉินลงมาอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ปรับลดงบหมวดป้องกันประเทศและหมวดความสงบภายในประเทศ อีก 30% จะได้เม็ดเงินอีกประมาณ 1.06 แสนล้านบาท (46.5 พันล้านบาท + 59.568 พันล้านบาท) ในการดูแลสวัสดิการประชาชนเพิ่มเติม ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอตามนโยบายรัฐสวัสดิการ จึงควรทยอยจัดสวัสดิการให้ตามลำดับความจำเป็นในปีต่อๆไป

โดยหลีกเลี่ยงการก่อหนี้เพิ่ม หรือ เพิ่มภาษีใหม่ แต่เน้นเก็บภาษีที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นปรับปรุงประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจให้สามารถส่งเงินเข้ารัฐได้มากขึ้นหากไม่สามารถปรับลดในส่วนที่เกี่ยวกับหมวดป้องกันประเทศ หรืองบกลางฉุกเฉินหากต้องการทำให้เป้าหมายการดูแลสวัสดิการประชาชนบรรลุตามที่หาเสียงเอาไว้ก็อาจใช้วิธีขยายวงเงินงบประมาณจาก 3.35 ล้านล้านบาท เป็น 3.45-3.8 ล้านล้านบาท ด้วยเพิ่มการขาดดุลงบประมาณและก่อหนี้มาชดเชย สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังคงต่ำกว่าเพดาน 70% หรือ เพิ่มรายได้และเก็บภาษีให้สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ในกรอบงบประมาณปี 67 ไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท

หากเร่งทำนโยบายรัฐสวัสดิการปี 67 ต้องขยายฐานภาษีและเพิ่มอัตราภาษีหรือก่อหนี้สาธารณะเพิ่มอย่างแน่นอนการก่อหนี้สาธารณะแม้นยังอยู่ภายในเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี 70%แต่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงวิกฤติฐานะการคลังในอนาคตได้ และ

นอกจากนี้เมื่อรัฐบาลเพิ่มรายจ่ายสาธารณะมากเกินพอดีอาจทำให้การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาคเอกชนลดลงก็ได้เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยแท้จริงปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสในการกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนของเอกชนสูงขึ้น จนก่อให้เกิดการชะลอการลงทุนโดยรวมได้ผ่านการลงทุนของเอกชนทางด้านทุนด้านสวัสดิการสังคมและโครงสร้างพื้นฐานอาจลดลงได้ หากเกิดภาวะ Crowding-out Effect จากการกู้ยืมของรัฐเพื่อเอามาใช้จ่าย อาจทำให้เกิดการเบียดบังแนวทางในการดำเนินการที่ดีกว่า การทยอยดำเนินการและปรับโครงสร้างการใช้จ่ายงบประมาณในปี 2568-2570 เป็นทางเลือกที่ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม หลังจากจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างมีเสถียรภาพแล้ว เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยสำคัญโดยเฉพาะการย้ายฐานการลงทุนจากกลุ่มทุนจีนมายังไทยและอาเซียน การย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศของกลุ่มทุนจีนเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา โดยคาดว่า ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2566 อาจแตะระดับ หนึ่งแสนล้านบาทได้ จากไตรมาสแรกปีนี้ที่มีเม็ดเงินลงทุนอยู่ที่ 25,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80% กว่าๆเมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งจะมีแรงกดดันทางการคลังและภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอยู่แล้ว

นอกจากนี้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจากข้อจำกัดในรัฐธรรมนูญและการไม่ยอมรับผลเลือกตั้งของผู้แพ้จะทำให้การจัดทำงบประมาณปี 2567 ล่าช้าไปอย่างน้อย 3-4 เดือน ขณะนี้ยอดหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมดอยู่ที่ 10.72 ล้านล้านบาทคิดเป็น 61.13% ของจีดีพี หนี้สาธารณะก้อนนี้ยังไม่รวมภาระผูกพันทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นอีกจำนวนไม่น้อยจากโครงการต่างๆของรัฐบาลรวมทั้งความเสียหายทางการเงินจากใช้มาตรการกึ่งการคลังผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ

อย่างไรก็ตาม นโยบายการคลังหรือนโยบายการเงินของไทยนั้นจะเกี่ยวข้องกับการจัดการด้านอุปสงค์มากกว่าการจัดการด้านอุปทานโดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพของระบบเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มผลิตภาพของทรัพยากรมนุษย์และทุน

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวต่อถึง การหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯชั่วคราว ว่า ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้ยุติแล้ว โดยทำให้ แรงกดดันภาคธุรกิจ ภาคการลงทุนคลายตัวลงพันธบัตรระยะยาวน่าสนใจมากขึ้น ดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงสั้น คาดว่าทิศทางราคาน้ำมันโลกไม่ได้กดดันให้เกิดเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากการลดกำลังการผลิตน้ำมันของโอเปกจะไม่ได้ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก จากการผลิตและอุปทานพลังงานที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกาสามารถชดเชยได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 มิ.ย. 66)

Tags: , ,