STARK ส่งงบปี 65 ขาดทุนยับกว่า 6 พันล้าน พร้อมแก้งบปี 64 พลิกเป็นติดลบพบกลโกงแทบทุกจุด

ในที่สุด บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) ก็ส่งงบปี 65 ได้ตามกำหนด แจ้งขาดทุนหนักกว่า 6.6 พันล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.5393 บาท พร้อมทั้งแก้งบปี 64 เปลี่ยนเป็นขาดทุน 5,965 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.501 บาท จากเดิมที่เคยแจ้งว่ากำไร 2.8 พันล้านบาท หลังจากผู้สอบบัญชีพบความผิดปกติหลายจุด

ขณะที่ผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและรับรองงบการเงินโดยไม่แสดงความเห็น ด้วยเหตุที่ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนต่อความสามารถในการเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง (Going Concern) ของกลุ่มบริษัทฯ

ณ วันที่ 31 ธ.ค.65 กลุ่มบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนรวมสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวม 6,628 ล้านบาท และมีส่วนของเจ้าของติดลบ 4,404 ล้านบาท โดยหนี้สินหมุนเวียนส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้การค้า เงินกู้ยืมระยะสั้น เงินกู้ยืมระยะยาวและหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี ซึ่งหนี้สินระยะสั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการจัดประเภทเงินกู้ยืมระยะยาวเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น เนื่องจากอัตราส่วนทางการเงินบางรายการไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเงินกู้ระยะยาวและหนังสือชี้ชวนหุ้นกู้

นอกจากนี้ ในเดือน พ.ค.66 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ หมายเลข STARK239A และ STARK249A ซึ่งมีเงินต้นคงค้างรวมเป็นจำนวน 944 ล้านบาท มีมติอนุมัติเรียกให้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้หุ้นกู้ทั้งหมด ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้วงเงินทุนหมุนเวียนและจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมจากสถาบันการเงิน ทางกลุ่มบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของกลุ่มบริษัทฯ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยต่อความสามารถในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของกลุ่มบริษัทฯ

บริษัทยังรายงานสรุปผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) ระยะแรกว่า บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ เอบีเอเอสจำกัด ทำการตรวจสอบครอบคลุมรายการผิดปกติที่เกี่ยวข้องบัญชีลูกหนี้การค้าที่ได้รับหนังสือยืนยันยอด (A/R confirmation) ที่แตกต่างกัน เงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้าที่จำนวนเงินสูงผิดปกติ เอกสารแจ้งหนี้ (invoices) ที่มีมูลค่าและจำนวนมากเป็นพิเศษในช่วงสิ้นงวดสินค้าคงคลังสูญหาย และรายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้ที่ไม่ถูกต้อง

  • (ก) ยอดขายที่ผิดปกติผู้ตรวจสอบพิเศษตรวจพบรายการขายผิดปกติ 202 รายการ คิดเป็นมูลค่าขาย 8,063 ล้านบาทและ 3,593 ล้านบาท ในปี 65 และ 64 ตามลำดับ ตรวจพบจากการสอบยืนยันยอดที่ถูกต้องกับลูกค้า การตรวจสอบการรับชำระเงิน ลักษณะการจ่ายเงินที่ไม่ปกติ การปลอมแปลงชื่อผู้จ่ายเงิน และการจ่ายเงินจากบัญชีของอดีตเจ้าหน้าที่ของบริษัทแทนลูกค้า

  • (ข) มียอดสินค้าคงเหลือที่ผิดปกติ พบว่า ณ วันสิ้นงวด มีรายการสินค้า (stock items) ประกอบด้วย รายการสินค้าระหว่างทำ (WIP) วัตถุดิบ (RM) และสินค้าสำเร็จ (FG) มียอดติดลบในระบบสารสนเทศ (ERP) ของบริษัท 3,140 รายการ

  • (ค) รายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้ถูกจัดทำอย่างไม่ถูกต้อง โดยเมื่อทำรายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้จากข้อมูลในระบบ SAP เปรียบเทียบกับรายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้ที่ทางฝ่ายจัดการ (เดิม) ส่งให้ผู้ตรวจสอบบัญชี พบว่า มีการคำนวณระยะเวลาคงค้าง (outstanding days) ที่แตกต่างกัน ส่งผลทำให้อายุของลูกหนี้ในทุกระยะเวลา (aging range) ในรายงานเดิมต่ำกว่าหรือระยะคงค้างน้อยกว่าความเป็นจริง และเมื่อสอบทานย้อนกลับพบว่าความผิดปกติดังกล่าวได้เกิดขึ้นในทุกไตรมาสของปี 65 ที่ผ่านมา

  • (ง) เงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า (advance payments) ผิดปกติ เงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า ณ วันที่ 31 ธ.ค.65 พบว่า บริษัทได้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าล่วงหน้าโดยการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารกสิกรไทย ผู้ขายวัตถุดิบในต่างประเทศ (key RM vendor/supplier) ในสกุลเงินบาท เป็นเงินถึง 7,976 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดที่ผิดปกติเป็นอย่างมาก เนื่องจาก ในอดีตย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทไม่เคยจ่ายเงินค่าสินค้าล่วงหน้ามากเช่นนี้มาก่อน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มิ.ย. 66)

Tags: , ,