PwC ประเทศไทยแนะธุรกิจวางกลยุทธ์เพื่อเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีแบบดั้งเดิมสู่ระบบคลาวด์ ชี้ฝ่ายบริหารต้องกำหนดวิธีการและการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อตอบโจทย์การเติบโตของธุรกิจ พร้อมพัฒนาทักษะเชิงลึกเกี่ยวกับคลาวด์ให้กับบุคลากรเพื่อเสริมศักยภาพการใช้งานและช่วยบำรุงรักษาระบบควบคู่กัน
นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หัวหน้าสายงานธุรกิจที่ปรึกษา PwC ประเทศไทย และหัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจบริการทางการเงินเชิงกลยุทธ์และการดำเนินงาน PwC South East Asia Consulting กล่าวว่า ภาคธุรกิจไทยในปัจจุบันเริ่มหันมาประยุกต์ใช้ระบบคลาวด์ในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น ใช้ระบบสำรองข้อมูลบนคลาวด์ พัฒนาโปรแกรมบนคลาวด์ หรือหากติดตั้งระบบไอทีใหม่ก็จะตัดสินใจเลือกใช้คลาวด์ แทนการใช้งานระบบดั้งเดิม (Legacy IT system) ที่มีการใช้ฮาร์ดแวร์และมีความยืดหยุ่นน้อย รวมถึงมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสูง
“วันนี้ cloud กำลังเป็นกลยุทธ์ระดับองค์กรที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ หลายแห่งเลือกใช้คลาวด์เนื่องจากเป็นการเช่าใช้และจ่ายตามจริง ซึ่งลดการลงทุนได้เป็นจำนวนมากในช่วงแรก นอกจากนี้ยังไม่ต้องลงทุนด้านดาต้าเซ็นเตอร์ ทำให้เกิดความสะดวกและสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม” นางสาววิไลพร กล่าว
สำหรับองค์กรที่ถูกจัดตั้งมานานและมีการลงทุนด้านไอทีไปบ้างแล้ว ก็มีความพยายามในการ migrate ระบบงานปัจจุบันขึ้นไปยังคลาวด์ ไม่ว่าจะเป็นคลาวด์แบบส่วนตัว คลาวด์แบบสาธารณะ หรือคลาวด์แบบไฮบริดเพื่อเปลี่ยนกระบวนการทำงานทั้งหมดไปสู่ดิจิทัล
นอกจากนี้ องค์กรหลายแห่งยังได้มีการทำแผนสำหรับการย้ายข้อมูลไปสู่ระบบคลาวด์ (Cloud migration) เพื่อรองรับกับเทคโนโลยีอื่น ๆ ในการพัฒนาธุรกิจสำหรับอนาคต เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) บิ๊ก ดาต้า และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning)
ทั้งนี้ กระแสการใช้งานคลาวด์ที่กำลังได้รับความนิยมภายในประเทศยังสอดคล้องกับข้อมูลจากรายงาน PwC’s Cloud Business
นอกจากนี้ ผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 26 ฉบับเอเชียแปซิฟิก ระบุด้วยว่า 67% ของซีอีโอในภูมิภาคมีแผนที่จะนำคลาวด์ เอไอ และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่น ๆ มาใช้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยการพัฒนาทักษะของพนักงาน ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบคลาวด์ ซึ่ง 73% ของซีอีโอกล่าวว่าต้องการลงทุนในการยกระดับทักษะพนักงานของตนในเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ดี นางสาว วิไลพร กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญของบริษัทขนาดใหญ่ในการโอนย้ายระบบคลาวด์ คือ ความซับซ้อนด้านเทคนิคของระบบงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบที่มีการจัดเก็บข้อมูลที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งแม้ว่าบริษัทหลายแห่งจะได้มีการทำแผนและวิเคราะห์แนวทางการย้ายข้อมูลแต่ก็ยังไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากต้องมีความระมัดระวังในหลายด้าน
รวมถึงต้องปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลและการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎระเบียบของบริษัทและหน่วยงานกำกับ นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึงการย้ายข้อมูลที่มีหลายรูปแบบ เช่น การยกทั้งระบบขึ้นไปบนคลาวด์ (Lift and Shift) หรือการสร้างระบบใหม่เพื่อให้รองรับการทำงานบนคลาวด์ (Rebuild) ซึ่งธุรกิจจะต้องเลือกกลยุทธ์และวิธีการให้เหมาะสม
การโอนย้ายระบบคลาวด์เริ่มที่ “วิสัยทัศน์” การกำหนดกลยุทธ์ในการย้ายข้อมูลขึ้นบนคลาวด์ ถือเป็นสิ่งสำคัญเพราะช่วยให้ธุรกิจสามารถกำหนดวิธีการและการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการ นางสาว วิไลพร กล่าวว่า การย้ายข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กรควรต้องเริ่มจากการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในการนำคลาวด์มาประยุกต์ใช้ที่มิใช่เพียงแค่การทดแทนระบบเก่า แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านกระบวนการทำงานไปสู่ดิจิทัลโดยยกเครื่องระบบเดิมสู่ระบบใหม่ที่ทันสมัยเพื่อขยายขีดความสามารถขององค์กรในอนาคต
สำหรับการกำหนดกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านระบบคลาวด์นั้น นางสาว วิไลพร กล่าวว่า มีหลากหลายลักษณะขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการว่าต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงการทำงานทั่วทั้งองค์กรในระดับที่มากหรือน้อยแค่ไหน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถพิจารณากลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยคลาวด์ (Cloud-powered business
1. บริการย้ายและปรับปรุงคลาวด์ให้ทันสมัย (Cloud Modernisation and Migration Services) ถือเป็นขั้นตอนแรกในการศึกษา วิเคราะห์ วางแผน และประเมินถึงความจำเป็นในการทำการย้ายระบบสู่คลาวด์
2. บริการโมเดลการดำเนินงานและกำลังแรงงานบนคลาวด์ (Cloud Operating Model and Workforce Services) ประเมินผลกระทบด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง การเปลี่ยนแปลงในการกำกับดูแล และการพัฒนาทักษะพนักงานที่จำเป็นเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ
3. บริการบริหารต้นทุนที่เกิดจากระบบคลาวด์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (Cloud Cost Optimisation Services) เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถวิเคราะห์ และกำหนดทรัพยากรในการลงทุนระบบคลาวด์ไม่ให้เกินขอบเขตที่ได้กำหนดไว้
4. บริการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยคลาวด์ (Cloud-Powered Innovation Services) สำหรับธุรกิจที่สามารถสร้างคุณค่าใหม่ หรือนวัตกรรมจากการใช้คลาวด์ โดยช่วยให้ธุรกิจใช้คลาวด์อย่างครบวงจร (end-to-end) เพื่อได้ประโยชน์จากเครื่องมือต่าง ๆ หากมีการวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมจะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อย่างแท้จริง
“อย่างที่กล่าวไปว่า การย้ายข้อมูลขึ้นคลาวด์เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล องค์กรจะต้องมีวางโครงสร้างพื้นฐานไอทีและปรับระบบการทำงานให้ทันสมัย มีระบบความปลอดภัย รวมถึงมีระบบปฏิบัติงานที่สนับสนุนการใช้คลาวด์อย่างแท้จริง ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารจะต้องเสริมทักษะคลาวด์เชิงลึกให้แก่พนักงาน เพื่อให้สามารถดึงศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ออกมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นางสาว วิไลพร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มิ.ย. 66)
Tags: Cloud, PwC, PwC ประเทศไทย, ระบบคลาวด์, วิไลพร ทวีลาภพันทอง, ไอที