ร.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงการรับมือกับสถานการณ์วิกฤติของ กทม.โดยระบุว่าสถานการณ์เตียงในโรงพยาบาลของ กทม.ในขณะนี้อยู่ที่ 96.06% ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง
จากเดิมการจัดการด้านเตียงผู้ป่วยโควิดของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โรงพยาบาลสังกัด กทม.10 แห่ง มีหน้าที่รับผิดชอบรับผู้ป่วยโควิดอาการระดับสีเขียวทั้งหมดจากการตรวจเชิงรุก กทม.จึงได้ขยายจำนวนเตียงที่สามารถรับผู้ป่วยโควิดได้จาก 1,934 เตียง เป็น 2,946 เตียง
ในส่วนของผู้ป่วยโควิดระดับอาการสีแดงและสีเหลืองปกติจะเป็นการรับโดยโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งมีศักยภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยวิกฤติ แต่ตอนนี้สถานการณ์ข้อเท็จจริงโรงพยาบาลนอกสังกัด กทม.เหล่านี้รับผู้ป่วยเต็มศักยภาพแล้ว โรงพยาบาล กทม.ทั้งหมด จึงต้องเปลี่ยนการรับผู้ป่วยจากผู้ป่วยอาการสีเขียวเป็นมารับผู้ป่วยอาการสีเหลืองและสีแดง โดยในส่วนผู้ป่วยสีเขียวได้ใช้โรงพยาบาลสนามทั้ง 3 แห่ง และโรงพยาบาลโรงแรม (Hospitel) รับแทน รวมทั้งสิ้น 1,346 เตียง
แต่ด้วยสถานการณ์วิกฤตนี้ ทำให้ตั้งแต่ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา กทม.เตรียมพร้อมรับสถานการณ์วิกฤติที่จะเกิดขึ้น ในส่วนผู้ป่วยสีเขียว กทม. ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนช่วยกันขยายเตียง จะเปิดให้ได้มากขึ้นอีก 1,694 เตียง ซึ่งบางส่วนได้เปิดเพิ่มขึ้นแล้ว เช่น
- โรงแรม The Bazaar รัชดาร่วมกับโรงพยาบาลปิยะเวท จำนวน 300 เตียง
- โรงแรม Two Three และโรงแรม The green hotel ร่วมกับโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ จำนวน 1,250 เตียง
- ศูนย์การเรียนรู้มหานคร สถาบันพัฒนาข้าราชการ กทม. ร่วมกับ หมอแล็ป และ รพ. สหวิทยาการมะลิ 144 เตียง
และ กทม. มีแผนจะเพิ่มเตียงรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงให้ได้อีก 526 เตียง ซึ่งในสัปดาห์นี้จะเริ่มเปิดรับผู้ป่วยวิกฤติเหล่านี้ได้มากขึ้น ได้แก่ โรงพยาบาลสนามกองทัพบก มทบ. 11 เปิดรับผู้ป่วยได้ในวันที่ 2 ก.ค., รพ. สนามราชพิพัฒน์ 1 เปิดได้ในวันที่ 10 ก.ค. โดยใช้นวัตกรรม Modular ICU ที่ได้รับความร่วมมือจาก SCG ในการสร้างห้องความดันลบและร่วมบริจาค
นอกจากนั้น ยังได้รับความร่วมมือในการสนับสนุนทีมบุคลากรทางการแพทย์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์เอกชน จากโรงพยาบาลธนบุรี ที่เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการและดูแลผู้ป่วย ทั้งที่ มทบ. 11 และที่ รพ. สนามราชพิพัฒน์ 1 รวมทั้งสิ้นจะสามารถรับผู้ป่วยโควิดอาการสีเขียว 3,040 เตียง และผู้ป่วยโควิดอาการสีเหลือง-แดงได้ 886 เตียง
“การมีเตียงเพิ่ม เตียงเหล่านี้ จะสามารถเร่งแก้ไขปัญหาผู้ป่วยตกค้างได้ ซึ่งแม้ปัจจุบันศูนย์เอราวัณจะทำงานอย่างเต็มที่ ส่งไปรับการรักษาทั้งหมด ตั้งแต่การระบาดระลอกเดือนเมษายนมา 15,893 รายก็ยังมีการตกค้างอยู่ ถึงแม้ว่าสุดท้ายการดำเนินการดังกล่าว จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องเตียงและลดการระบาดได้ แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาได้ชั่วคราวเหมือนที่เราเคยแก้ไขได้เมื่อการระบาดในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2”
นายพงศกร ระบุว่า ดังนั้นขณะนี้วัคซีนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขวิกฤตินี้ได้ในระยะยาว ซึ่ง กทม.ร่วมกับหอการค้าไทย ภาคเอกชน และโรงพยาบาลต่างๆ ใน กทม. เตรียมพร้อมศูนย์ฉีดนอกโรงพยาบาล 25 ศูนย์ที่มีศักยภาพในการฉีด 50,000-70,000 คน/วัน ซึ่งหากได้รับวัคซีน ศูนย์เหล่านี้สามารถที่จะฉีดให้ชาว กทม.ได้ถึง 70% ภายในเดือนกว่า ๆ และจะทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มิ.ย. 64)
Tags: COVID-19, กทม., กรุงเทพมหานคร, ผู้ป่วยโควิด, พงศกร ขวัญเมือง, เตียงผู้ป่วย, โควิด-19