สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์ของสหรัฐได้ลงนามรับรองในกฎหมายเมื่อวานนี้ (12 มิ.ย.) ซึ่งอนุญาตให้รัฐสามารถป้องกันการแบนหนังสือของห้องสมุดได้ ถือเป็นแบบอย่างให้กับทั่วประเทศ เนื่องจากโรงเรียนและบรรณารักษ์ในสหรัฐต้องเผชิญกับการแบนหนังสือเพิ่มมากขึ้น
กฎหมายดังกล่าวเปิดทางให้รัฐอิลลินอยส์สามารถสั่งงดให้เงินทุนจากภาครัฐแก่ห้องสมุดต่าง ๆ ที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของสมาคมห้องสมุดอเมริกา (American Library Association หรือ ALA) หรือห้องสมุดที่แบนหนังสือ โดย “บัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐาน” (Bill of Rights) ของ ALA ระบุเอาไว้ว่า สื่อสำหรับการอ่านไม่ควรถูกถอดถอนหรือจำกัดเพียงเพราะไม่เป็นที่ยอมรับของบุคคลหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
นายเจบี พริทซ์เกอร์ ผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์ กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ว่า “ระบอบการปกครองที่แบนหนังสือไม่ถือเป็นระบอบประชาธิปไตย” พร้อมเสริมว่า รัฐอิลลินอยส์ขอปฏิเสธที่จะปล่อยให้ “ความเกลียดชังของลัทธิชาตินิยมคนขาวมากำหนดว่า เรื่องราวของใครควรถูกบอกเล่า”
ทั้งนี้ ความพยายามในการแบนหนังสือพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในสหรัฐ โดยในปี 2565 ALA เผยว่า มีหนังสือที่ถูกเรียกร้องให้แบนมากกว่า 2,500 เล่ม เมื่อเทียบกับ 1,858 เล่มในปี 2564 และ 566 เล่มในปี 2562
นายอเล็กซี เกียนนูเลียส เลขาธิการรัฐอิลลินอยส์ ผู้เป็นหัวหอกในการผลักดันกฎหมายข้างต้นกล่าวว่า “มีบรรณารักษ์มากมายที่ต้องถูกบีบบังคับให้ลาออกหลังตกเป็นเหยื่อการข่มขู่คุกคาม ขณะที่คนอื่น ๆ ต่างถูกไล่ออกเพราะปฏิเสธที่จะถอดถอนหนังสือออกจากระบบ แต่ที่นี่รัฐอิลลินอยส์เราขอบอกว่า ‘พอกันที!’”
ข้อมูลจากสมาคมนักเขียนอเมริกา (PEN America) ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกระบุว่า ทั่วทั้งสหรัฐตอนนี้ กฎหมายใหม่ของรัฐได้แสวงหาแนวทางที่จะเซนเซอร์ไอเดียและสื่อในโรงเรียนรัฐ ในฐานะส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวเพื่อแบนหนังสือที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2564 โดยพลเมืองท้องถิ่นและกลุ่มผู้สนับสนุน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มิ.ย. 66)
Tags: สหรัฐ, ห้องสมุด, อิลลินอยส์, อเล็กซี เกียนนูเลียส, เจบี พริทซ์เกอร์, เสรีภาพ