ไบแนนซ์ (BINANCE) เผยว่า ในโลกที่คนส่วนใหญ่สามารถสร้างโปรไฟล์โซเชียลมีเดียได้อย่างง่ายดายเพียงแค่ปลายนิ้ว จึงไม่น่าแปลกใจหากจะเจอแอคเคาท์ปลอมของบุคคลหรือองค์กรที่เป็นที่รู้จักตามหน้าโซเชียลมีเดีย คอมเมนท์ตามโพสต์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งในแอปพลิเคชันแชท อย่าง Telegram ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว องค์กรต่างๆ ไม่สามารถควมคุมแอคเคาท์ปลอมบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเหล่านี้ได้ จึงทำให้เหล่าผู้ไม่หวังดีสามารถสร้างแอคเคาท์ปลอมขึ้นมาใหม่ได้อย่างง่ายดายในเวลาแค่ไม่กี่วินาที แม้ว่าองค์กรต่างๆ จะพยายามอย่างหนักที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นไปที่ผู้ผลิตแพลตฟอร์มโดยตรงก็ตาม
บทความของ Binance ชิ้นนี้ จึงมุ่งเน้นไปที่การปกป้องผู้ใช้จากการตกเป็นเหยื่อของสแกมเมอร์ที่แอบอ้างเป็นองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อหลอกให้ผู้ใช้โอนเงินหรือแชร์ข้อมูลส่วนตัว โดยสแกมเมอร์เหล่านี้มักจะสร้างเรื่องเท็จที่อ้างอิงกับเหตุการณ์ปัจจุบัน พร้อมเชื่อมโยงกับบริบททางสังคมที่หลากหลาย โดยพวกเขาอาจจะติดต่อเหยื่อผ่านทางโทรศัพท์ การส่งข้อความ หรืออีเมล หรือแม้กระทั่งตั้งคอลเซ็นเตอร์ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์เพื่อเพิ่มความสมจริงและทำให้ดูเหมือนเป็นองค์กรที่ถูกต้องตามกฏหมาย
สำหรับประเทศไทย การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตหรือสแกมนั้นเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง โดยมีรายงานว่ามีเหยื่อได้รับความเสียหายจากการถูกโจรกรรมคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 31,580 ล้านบาทภายในหนี่งปี ทั้งนี้ การหลอกลวงโดยแอบอ้างชื่อองค์กรบนแพตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook ได้เกิดขึ้นกับ Gulf Binance ด้วยเช่นกัน ภายหลังจากที่บริษัทร่วมทุนระหว่าง Binance และ Gulf ได้รับใบอนุญาตผู้ประกอบกิจการสินทรัพย์ดิจิทัลจากกระทรวงการคลังของประเทศไทย ผ่านสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ตัวแทนจาก Gulf Binance กล่าวว่า “บริษัทกำลังอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมความพร้อมศูนย์ซื้อขายและนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้เป็นไปตามกำหนดการที่จะเปิดให้บริการภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยในปัจจุบัน ทางบริษัทยังไม่ได้มีการเปิดใช้บัญชีโซเชียลมีเดียในนามของ Gulf Binance รวมถึงการนำเสนอโอกาสทางการลงทุนต่างๆ แต่อย่างใด ดังนั้น นักลงทุนควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมกับแอคเคาน์ปลอมเหล่านี้”
ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนได้ทราบถึงกลไกการหลอกลวงของเหล่าสแกมเมอร์ Binance จึงได้สรุปกระบวนการที่สามารถพบเห็นได้บ่อยเพื่อให้ทุกคนสามารถระวังภัยกันได้ล่วงหน้า ดังนี้
1. สร้างตัวตนปลอม สแกมเมอร์มักจะสร้างความน่าเชื่อถือ ด้วยการสวมรอยเป็นบุคคลหรือองค์กรที่เป็นที่รู้จัก และนำภาพถ่ายบุคคลหรือโลโก้ขององค์กรดังกล่าวมาสร้างเป็นภาพโปรไฟล์ รวมถึงการใช้ชื่อบัญชีเป็นชื่อองค์กรนั้นๆ ด้วยเช่นกัน
2. สร้างความไว้วางใจและหลอกล่อให้ตกหลุมพราง สแกมเมอร์มักจะเตรียมสคริปต์ที่บรรจงเขียนเรื่องราวไว้เป็นอย่างดีเพื่อให้ตรงกับเป้าหมายแต่ละบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์ในการสานสัมพันธ์และสร้างความคุ้นเคยกับเหยื่อ ก่อนจะเกลี้ยกล่อมหรือจูงใจเหยื่อเพื่อให้ดำเนินการตามที่ตนต้องการ
ทั้งนี้ สแกมเมอร์ส่วนใหญ่จะมีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี ด้วยการสร้างบัญชีโซเชียลมีเดียปลอมให้มีความน่าเชื่อถือ ด้วยการเผยแพร่เนื้อหาที่ดูเหมือนถูกต้องตามกฎหมาย จนทำให้เหยื่อไม่สามารถแยกแยะได้ว่าบัญชีที่ตนเห็นเป็นบัญชีจริงหรือไม่
3. เสร็จสิ้นกลโกง กระบวนการทั้งหมดจะจบลง เมื่อเหยื่อหลงกลตัวตนปลอมของสแกมเมอร์ และดำเนินการโอนเงิน หรือให้ข้อมูลยืนยันตัวตนเพื่อเข้าสู่บัญชีทรัพย์สินหลักตามที่สแกมเมอร์เรียกร้อง หรือยิ่งไปกว่านั้น เหยื่อบางรายอาจจะถูกหลอกให้ร่วมลงทุน ซึ่งจะจบลงด้วยการฉ้อโกงในท้ายที่สุด
เคล็ดลับในการปกป้องตนเองจากกลโกงของเหล่าสแกมเมอร์
1. ระวังบัญชีต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็น Telegram WhatsApp Instagram Facebook หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียใดๆ ก็ตาม อย่าเพิ่งเชื่อถือบัญชีนั้นในทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากบัญชีเหล่านั้นเป็นฝ่ายเริ่มติดต่อหาคุณก่อน ไม่ว่าจะเป็นการให้คำแนะนำด้านการลงทุนโดยที่คุณไม่ได้ร้องขอ การนำเสนอกิจกรรมชิงรางวัล หรือการเสนอบริการปลดล็อกบัญชี
ทั้งนี้ เราสามารถตรวจสอบเพื่อยืนยันความถูกต้องของเว็บไซต์หรืออีเมล ด้วยการดูชื่อโดเมนด้านท้าย หรือหากเป็นบัญชีที่เกี่ยวข้องกับ Binance ผู้ใช้สามารถนำ URL เว็บไซต์มาตรวจสอบผ่าน Binance Verify โดยหากขึ้นข้อความ “ยืนยัน (Verified)” หมายความว่าผู้ใช้สามารถใช้งานต่อได้ด้วยความระมัดระวัง แต่หากมีข้อความขึ้นมาว่า “แหล่งที่มาไม่ได้รับการยืนยัน (Source Not Verified)” ผู้ใช้ความหลีกเลี่ยงการใช้งานในทันที
2. รักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว สแกมเมอร์มักจะใช้เว็บมืดในการเฟ้นหาเป้าหมายที่ไม่ระมัดระวังในการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น ผู้ใช้ควรต้องดูแลข้อมูลต่างๆ ให้ดี ไม่ว่าจะเป็น ประวัติการเดินทาง ประวัติการซื้อสินค้า รายละเอียดและช่องทางการติดต่อ เป็นต้น
ข้อควรปฏิบัติเมื่อถูกหลอกลวง
หากเกิดความผิดพลาดจนทำให้โดนหลอกลวง สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับต่อไปคือการปกป้องตนเองไม่ให้หลงกลของสแกมเมอร์รายเดิมซ้ำ รวมถึงไม่ควรถอนหรือโอนเงินให้กับคนแปลกหน้าโดยเด็ดขาด หลังจากนั้น ผู้ใช้ควรติดต่อขอความช่วยเหลือ พร้อมแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าสู่การดำเนินการในลำดับต่อไป เพราะการมีความรู้เท่าทัน เป็นหนทางในการปกป้องตนเองจากสแกมเมอร์ได้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการต่อต้านการหลอกลวงในซีรีส์ต่อไปได้ ผ่านทาง Binance Blog
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มิ.ย. 66)
Tags: Binance, Cryptocurrency, Gulf Binance, Scammer, คริปโทเคอร์เรนซี, สแกมเมอร์, ไบแนนซ์