จีนไม่สามารถพึ่งพากลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะตลาดส่งออกท่ามกลางการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า การส่งออกไปยังสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนเคยเติบโตขึ้นแซงหน้าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (EU) ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้อาเซียนกลายเป็นคู่ค้าระดับภูมิภาครายใหญ่ที่สุด
อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง 16% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งฉุดการส่งออกโดยรวมของจีนลงด้วย
ข้อมูลจากวินด์ อินฟอร์เมชัน (Wind Information) ระบุว่า การส่งออกไปยังสหรัฐซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนลดลง 18% ในเดือนพ.ค. จากปีก่อนหน้า
ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (8 มิ.ย.) ระบุว่า การส่งออกของจีนไปยังสหรัฐในเดือนพ.ค. อยู่ที่ระดับ 4.248 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการส่งออกไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ระดับ 4.149 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายบรูซ แปง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัยจีนแผ่นดินใหญ่และจีนโพ้นทะเล (Greater China) จากจีแอลแอล (JLL) กล่าวว่า การส่งออกไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่สามารถชดเชยการส่งออกที่ลดลงไปยังตลาดสหรัฐได้
ทั้งนี้ กลุ่มอาเซียนประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศได้แก่บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ขณะที่สหรัฐเป็นเพียงตลาดเดียว และบริษัทต่าง ๆ สามารถทำกำไรได้สูงกว่าเมื่อขายสินค้าให้กับตลาดสหรัฐ
การค้าเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด
นายเตา หวัง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจเอเชียและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนประจำยูบีเอส อินเวสต์เมนต์ แบงก์ (UBS Investment Bank) กล่าวว่า การส่งออกยังคงมีสัดส่วนประมาณ 18% ของเศรษฐกิจจีน แม้ต่ำกว่าสัดส่วนที่ราว 30% ในช่วงก่อนหน้านี้ก็ตาม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มิ.ย. 66)
Tags: การส่งออก, ภาวะเศรษฐกิจ, สหภาพยุโรป, สหรัฐ, อาเซียน, เศรษฐกิจโลก, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้