ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ในคดีที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นฟ้องขอให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระงับการจัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) มาใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
เนื่องจากคำฟ้อง และคำขอของผู้ฟ้องคดี เป็นกรณีที่ศาลไม่อาจออกคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพ.ร.บงจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ผู้ฟ้องคดี จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.เดียวกัน
ทั้งนี้ คดีดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ในฐานะผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นฟ้องคดีต่อผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 คน ซึ่งประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข (ผู้ถูกฟ้อง คนที่ 1), ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ผู้ถูกฟ้อง คนที่ 2), อธิบดีกรมการแพทย์ (ผู้ถูกฟ้อง คนที่ 3) และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (ผู้ถูกฟ้องคนที่ 4) ในข้อหาแรก คือ ร่วมกันใช้อำนาจ หรือดุลยพินิจโดยมิชอบ เสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการจัดหาเวชภัณฑ์ยารักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) จากเดิม คือ ยาโมลนูพิราเวียร์ จำนวน 50,000 โดส มาเป็นยาฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 17,065,457 เม็ด
ทำให้ประเทศต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก ทั้งที่เป็นยาที่บริษัทผู้ผลิตจะยุติการทดลองใช้กับโรคโควิด 19 เนื่องจากยากแก่การประเมินประสิทธิภาพในการใช้กับไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ในขณะที่ผลการวิจัยในไทยเอง พบว่าการใช้ยาฟ้าทะลายโจร กลับได้ประสิทธิภาพในการรักษาโรคโควิดได้ดีกว่าฟาวิพิราเวียร์ จึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ระงับการจัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์
รวมถึงข้อหาที่สอง ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ได้เคยมีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ที่ขอให้พิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลข้างเคียงของผู้ป่วยที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ และกำหนดมาตรการชดเชยดูแลค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการป่วยและเสียชีวิตจากโรคโควิด โดยให้เผยแพร่ให้บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน รับทราบข้อมูลและข้อจำกัดของหลักฐานด้านประสิทธิภาพของยาฟาวิพิราเวียร์ และให้กำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการส่งเสริมการใช้ “ฟ้าทะลายโจร”
ซึ่งในทั้ง 2 ข้อหาก่อนหน้านี้ ศาลปกครองชั้นต้น ได้เคยมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความไปแล้ว แต่ต่อมา ผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้น เพื่อขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งในท้ายสุดแล้วศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นในการไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มิ.ย. 66)
Tags: กระทรวงสาธารณสุข, ยาฟาวิพิราเวียร์, รัฐธรรมนูญ, ศาลปกครองสูงสุด, ไวรัสโคโรนา