เรอเล เอ ชาโต เดินหน้าแคมเปญปกป้องมหาสมุทรผ่านเมนูจากเชฟชื่อดัง

เรอเล เอ ชาโต (Relais & Chateaux) เดินหน้ากิจกรรมเพื่อชี้ให้เห็นอีกมุมของแนวคิด “SEAsonality” หรือแนวคิดอาหารทะเลตามฤดูกาลให้เป็นที่รับรู้มากขึ้น รวมทั้งเผยแพร่ให้ทั่วโลกรู้ว่า แนวคิดอาหารทะเลตาม “ฤดูกาล” (Seasonality) ไม่จำเป็นต้องถูกใช้เป็นเกณฑ์วัดความยั่งยืนในแวดวงอาหารทะเล เพราะเกณฑ์แรกและเกณฑ์สำคัญที่สุดคือ การตรวจสอบปริมาณสัตว์น้ำคงเหลือในทะเล

ที่ผ่านมา โรงแรมและร้านอาหารในเครือเรอเล เอ ชาโต จำนวน 580 แห่ง ในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ได้ร่วมมือกันสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของอาหารทะเลที่ยั่งยืนในหมู่แขกที่มาเยือน และตลอด 6 ปี เรอเล เอ ชาโต ได้จับมือกับ เอททิก โอเชียน เพื่อร่วมกันเฉลิมฉลองวันมหาสมุทรโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มิถุนายนของทุกปี

เมาโร โคลาเกรโก รองประธานของเรอเล เอ ชาโต กล่าวว่า การเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับอาหารทะเลตามฤดูกาลคือการท้าทายความคิดแบบเก่า ๆ ด้วยการเปลี่ยนมาให้ความสนใจกับปริมาณของปลา สัตว์จำพวกกุ้งปู รวมถึงสัตว์จำพวกหอยและหมึก ตลอดจนเงื่อนไขการทำประมงและการจับสัตว์น้ำ เพื่อเรียนรู้ที่จะเคารพต่อชีวิตของสัตว์ทะเลผ่านการทบทวนแนวคิดเกี่ยวกับอาหารทะเลตามฤดูกาลเสียใหม่ ขณะเดียวกัน เอททิก โอเชียน (Ethic Ocean) ได้ช่วยให้เชฟของเรอเล เอ ชาโต สามารถเข้าถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดเกี่ยวกับปริมาณสัตว์น้ำคงเหลือในทะเล และได้กลายเป็นทูตผู้เผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด ไม่ใช่แค่ในกลุ่มร้านอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้ขายอาหารทะเลอีกด้วย แนวคิด SEAsonality ได้ช่วยทำให้เราเข้าใจดียิ่งขึ้นถึงความเร่งด่วนอย่างแท้จริงในการปกป้องมหาสมุทร

เชฟของเรอเล เอ ชาโต จะร่วมนำเสนออาหารทะเลที่ยั่งยืนตลอดเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมอธิบายถึงนิยามของคำว่าอาหารทะเลตามฤดูกาลที่ถูกต้อง ซึ่งสวนทางกับแนวคิดที่มีอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับแคมเปญเนื่องในวันมหาสมุทรโลกของเรอเล เอ ชาโต ประจำปี 2566 มีดังนี้

สมาชิกของเรอเล เอ ชาโต จะแสดงให้เห็นถึงความหมายของ SEAsonality ที่ร้านอาหารและโรงแรม ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการทำประมงในมหาสมุทรและการทำประมงน้ำจืด รวมถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ดังนี้

• เชฟ เอเลนา อาร์ซัค จากร้านอาหารอาร์ซัค (ARZAK) ในเมืองโดโนสเตีย หรือ ซานเซบาสเตียน ประเทศสเปน มาร่วมบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับปลากะตักยุโรป (Engraulis encrasicolus) ในอ่าวบิสเคย์ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากที่มีการออกคำสั่งห้ามทำประมงเป็นระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2548-2553 และปัจจุบันมีการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด โดยตัวเชฟเองยังคงมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมือกับชาวประมงในท้องถิ่น รวมถึงศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเลและอาหาร (AZTI) ในสเปน

• เชฟ สกอตต์ เบคอน จากร้านอาหารมักดาเลนา (MAGDALENA) ในโรงแรมดิ ไอวี (The Ivy) เมืองบัลติมอร์ รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา ได้นำสัตว์รุกรานต่างถิ่น (Invasive Species) ในอ่าวเชซาพีก นั่นคือ ปลาดุกอเมริกันสีน้ำเงิน (Ictalurus furcatus) มาทำเป็นเมนูอาหารของร้าน เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนหันมาสนใจปลาที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ซึ่งเมื่อนำมาทำอาหารจะส่งผลดีต่อระบบนิเวศโดยรวมทั้งหมด

• ฮันเนส บาไรส์ เจ้าของโรงแรมบาไรส์ (BAREISS) ในไบเออร์สบรอนน์-มิทเทลทัล ประเทศเยอรมนี ได้สร้างฟาร์มปลาที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทมแบร์ก เพื่อฟักไข่และเพาะเลี้ยงปลาเทราท์ หลังจากที่ใช้เวลากว่า 5 ปีในการปรับปรุงสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโฟเรลเลนฮอฟ บูห์ลบาค (Forellenhof Buhlbach) ให้ทันสมัยมากขึ้น เขาได้พัฒนาต้นแบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเคารพต่อสวัสดิภาพสัตว์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 มิ.ย. 66)

Tags: ,