นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตและความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันของไทย ปี 66 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ เม.ย. 66) ซึ่ง สศก. คาดการณ์ว่าจะมีเนื้อที่ให้ผล 6.252 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 65 ที่มีจำนวน 6.150 ล้านไร่ (เพิ่มขึ้น 1.66%) ผลผลิตปาล์มน้ำมันรวม 19.892 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 65 ที่มีจำนวน 19.061 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 4.36%)
สำหรับผลผลิตปาล์มน้ำมัน 19.892 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนน้ำมันปาล์มดิบ 3.581 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2565 ที่มีจำนวน 3.431 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 4.37%) โดยผลผลิตในรูปน้ำมันปาล์มดิบ จะทยอยออกสู่ตลาดเฉลี่ยเดือนละ 0.264-0.330 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 0.225 ล้านตัน จึงส่งผลทำให้มีน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินสะสมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 0.039-0.105 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีแรก สถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกยังทรงตัวในระดับสูง จึงส่งผลทำให้ไทยยังสามารถส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง โดยช่วงม.ค.-พ.ค. 66 ไทยส่งออกน้ำมันปาล์มดิบได้รวม 0.570 ล้านตัน และคาดว่า ณ สิ้นเดือนพ.ค. จะมีสต็อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือ 0.266 ล้านตัน (ระดับสต็อกปกติอยู่ที่ 0.300 ล้านตัน)
ล่าสุด จากการคาดการณ์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture: USDA) ณ เดือนพ.ค. พบว่า ผลผลิตพืชน้ำมันโลก (ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน เรพซีด ฯลฯ) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เดิม จึงทำให้ราคาพืชน้ำมันรวมถึงราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกในช่วงครึ่งปีหลัง จะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 26.00-28.00 บาท
ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศเฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 30 บาท ซึ่งระดับราคาดังกล่าว ไทยไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาในตลาดโลก จึงส่งผลทำให้สต็อกน้ำมันปาล์มดิบในช่วงครึ่งปีหลังปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 0.350-0.400 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าระดับสต็อกปกติ และจะมีผลกระทบต่อราคาที่เกษตรกรได้รับ
ดังนั้น เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์มภายในประเทศ ให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม รวมถึงสร้างสมดุลน้ำมันปาล์มให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ โดยไม่กระทบกับราคาที่เกษตรกรขายได้
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้รับทราบโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 66 ตามมติคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) 1/2566 เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 66 ซึ่งเป็นมาตรการคู่ขนานของโครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมันที่กิโลกรัมละ 4 บาท โดยโครงการฯ ดังกล่าว มีเป้าหมายลดน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกิน จำนวน 150,000 ตัน ด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการฯ ในอัตรากิโลกรัมละ 2.00 บาท โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
1. ระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน
2. ราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบริหารจัดการมีความยืดหยุ่นและทันต่อสถานการณ์ จึงได้กำหนดระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบขั้นต่ำไว้ที่ 250,000 ตัน โดยให้เป็นอำนาจของ กนป. เป็นผู้พิจารณาระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบเหมาะสมที่จะใช้ในการพิจารณาสนับสนุนค่าบริหารจัดการการส่งออกต่อไป
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงให้ความสำคัญในเรื่องของเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน การการตัดปาล์มคุณภาพ หรือการตัดปาล์มสุก เพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้ให้เกษตรกรได้ เพราะอัตราการสกัดน้ำมันปาล์มทุกๆ 1% ที่เพิ่มขึ้น เกษตรกรจะได้ราคาเพิ่มขึ้นอีกกิโลกรัมละ 0.30 บาท
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงมูลค่าเศรษฐกิจแล้ว พบว่า อัตราการสกัดน้ำมันปาล์ม ที่เพิ่มขึ้นทุก 1% จะทำให้มูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท รวมถึงการเร่งผลักดันตามแนวทาง BCG โดยเฉพาะเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) การใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญ ให้ทุกประเทศที่ต้องการส่งออกสินค้าไปกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปต้องถือปฏิบัติ (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ตลอดจนส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นของผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน ซึ่งไทยได้กำหนดเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 อีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มิ.ย. 66)
Tags: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ฉันทานนท์ วรรณเขจร, น้ำมันปาล์ม, สศก.