สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จัดทำบัญชีรายรับและรายจ่ายที่ใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส. ตามที่ กกต.ประกาศกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งให้ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต แต่ละคนต้องใช้จ่ายไม่เกิน 1,900,000 บาท และพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ต้องใช้จ่ายไม่เกิน 44,000,000 บาท โดยให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ยุบสภาจนถึงวันเลือกตั้ง คือ วันที่ 20 มี.ค.-14 พ.ค.66
โดยให้แยกประเภทของค่าใช้จ่าย ได้แก่
1.ค่าใช้จ่ายในการสมัครรับเลือกตั้ง เช่น ค่าสมัครรับเลือกตั้ง และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการสมัครรับเลือกตั้ง
2.ค่าจ้างแรงงาน เช่น ค่าจ้างผู้ช่วยหาเสียง ค่าจ้างในการปิดป้ายโฆษณาหาเสียง ค่าจ้างแจกใบปลิว แผ่นพับ รวมทั้งค่าจ้างแรงงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และไม่มีพฤติการณ์ที่ส่อไปในการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง
3.ค่าจ้างทำของ เช่น ค่าจ้างทำเสื้อแจ็กเก็ต หมวก และเสื้อยืด หรืออื่นๆ สำหรับผู้ช่วยหาเสียง
4.ค่าโฆษณาในสื่อต่างๆ
5.ค่าจัดทำป้าย เอกสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่ใช้ในการโฆษณาหาเสียง
6.ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือค่าบริการทางอิเล็กทรอนิกส์
7.ค่าจัดซื้อหรือเช่าวัสดุ และอุปกรณ์สำหรับใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง
8.ค่าเช่าสถานที่และค่าตกแต่งสถานที่
9.ค่าเช่ายานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
10.ค่าสาธารณูปโภค
11.ค่าอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้ช่วยหาเสียง
12.ค่าอบรมผู้สมัครหรือผู้ช่วยหาเสียง
13.ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายหรือเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม
ทั้งนี้ ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคน ยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้ง รวมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริง ต่อผู้อำนวยการสำนักงานกกต.ประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานครด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจเป็นหนังสือให้ผู้อื่นยื่นแทน สำหรับพรรคการเมืองให้หัวหน้าพรรคการเมืองยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้ง รวมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงต่อเลขาธิการกกต.ด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจเป็นหนังสือให้ผู้อื่นยื่นแทน ภายใน 90 วันนับจากวันเลือกตั้ง ซึ่งวันสุดท้ายที่ครบ 90 วัน ตรงกับวันเสาร์ที่ 12 ส.ค.66 แต่เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการ จึงให้นับวันอังคารที่ 15 ส.ค.66 ซึ่งเป็นวันทำการแรกต่อจากวันหยุดทำการเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา
ทางสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร จะเปิดเผยรายงานสรุปรายรับและรายจ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แต่ละคน ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือภายในวันที่ 14 ก.ย.66
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ค. 66)