นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษา กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร หอบเอกสารหลักฐานมายื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณายุบพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย
เรื่องแรกเป็นกรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นว่าพรรคก้าวไกลจะต้องยึดตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้เอง ไม่ยอมปล่อยไปให้พรรคการเมืองอื่น เป็นการชี้นำ ครอบงำ หรือควบคุมพรรคการเมือง ซึ่งขัดต่อ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 28 และ 29 ซึ่งเป็นเหตุนำไปสู่การถูกยุบพรรคตามมาตรา 92(3)
“นายปิยบุตรเคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่ได้เข้ามาเป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล ซึ่งการเลือกตั้งก็ได้เบ็ดเสร็จครบถ้วนกระบวนความไปแล้ว แต่นายปิยบุตรออกมาโพสต์ข้อความชี้นำ ขณะที่ผู้บริหารพรรคก้าวไกลก็ไม่ได้ออกมาปฏิเสธ และเป็นไปในทำนองที่เห็นด้วย” นายสนธิญา กล่าว
เรื่องที่สองเป็นกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เดินทางไปเยี่ยม นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งอาจเข้าขายความผิดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากมีสถานะเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย
“การเดินทางไปเยี่ยมบิดา หรือผู้มีพระคุณนั้นสามารถทำได้ แต่ขณะนี้ น.ส.แพทองธาร ยังเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งพฤติกรรมต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในเรื่องของผลประโยชน์ ซึ่งเข้าลักษณะตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 45 ที่มีโทษตามมาตรา 92 (3 ) เช่นกัน จึงขอให้ กกต.พิจารณาและส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติของแคนดิเดตนายกฯ หรือว่าที่นายกฯ ต่อไปในอนาคตด้วย” นายสนธิญา กล่าว
นายสนธิญา กล่าวว่า ส่วนตัวยังมั่นใจว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรรคก้าวไกล ไม่สามารถที่จะทะลุผ่านเข้าไปสู่กระบวนการโหวตเป็นนายกฯ ได้ แล้วแคนดิเดทของพรรคเพื่อไทย คนที่ 1 คือ น.ส.แพทองธาร ซึ่งมีหลายคนที่ออกมาวิเคราะห์กรณีที่เดินทางไปเยี่ยมพ่อในช่วงเวลาสถานการณ์อย่างนี้
“โดยจริยธรรม คุณธรรมและมารยาท หรือกฎหมาย ไม่น่ากระทำการโดยเปิดเผย เพราะการไปเยี่ยมในช่วงที่มีตำแหน่งเป็นแคนดิเดทนายกฯ นั้น อธิบายไม่ได้ในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้ที่ถูกศาลไทยพิจารณาให้จำคุกไปแล้ว” นายสนธิญา กล่าว
สำหรับกรณีการถือหุ้นสื่อของนายพิธานั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนว่าต้องถือจำนวนเท่าใด แต่เขียนเพียงว่าผู้ลงสมัคร ส.ส.ห้ามมีหุ้นสื่อ ซึ่งนายพิธาเพิ่งมาแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งหากได้รับการโหวตเป็นนายกฯ แล้วศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยและสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จะไม่เป็นผลดีต่อพรรคก้าวไกลและประเทศ จึงต้องการให้ดำเนินการเรื่องนี้ให้จบเสียก่อน
ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เข้ายื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมต่อ กกต.จากกรณีเมื่อ 22 พ.ค.66 ที่ให้ตรวจสอบ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช กระทำการชี้นำพรรคก้าวไกล เข้าข่ายขัดมาตรา 28 และ มาตรา 29 พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560
ต่อมาในวันที่ 22 พ.ค. นายปิยบุตรได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตำแหน่งที่พรรคก้าวไกลเสียไปไม่ได้เป็นอันขาด พร้อมอธิบายเหตุผลมากมาย ซึ่งต่อมาว่าที่ ส.ส.และกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลต่างออกมาให้สัมภาษณ์และหรือโพสต์ข้อความแสดงความเห็นเพื่อยืนยันว่าตำแหน่งประธานสภาฯ ต้องเป็นของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ลงในสื่อสังคมออนไลน์มากมาย อาทิ นายรังสิมันต์ โรม, น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล, นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล
“การที่นายปิยบุตรโพสต์ข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์ลักษณะดังกล่าว ทำให้มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากพยายามชี้นำความคิดและการกระทำของเหล่าว่าที่ ส.ส.ของพรรคก้าวไกลให้ต้องช่วยกันผลักดันหรือกดดันให้พรรคร่วมต่างๆ ยินยอมให้ตำแหน่งประธานสภาฯเป็นของพรรคก้าวไกลเท่านั้น” นายศรีสุวรรณ กล่าว
นอกจากนี้ในวันที่ 25 พ.ค.66 น.ส.พรรณิการ์ ยังออกมาโพสต์สำทับถึงข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า “ก้าวไกลต้องการเป็น #ประธานสภา เพื่อผลักดันวาระก้าวหน้าในสังคม” อีกด้วย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าบุคคลทั้งสอง ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคก้าวไกล กลับมีพฤติการณ์หรือกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลออกมาเคลื่อนไหวสอดรับกับการชี้นำของบุคคลทั้งสอง จึงต้องนำพยานหลักฐานมายื่นเพิ่มเติมให้ กกต.เพื่อนำไปตรวจสอบ และวินิจฉัยประกอบคำร้องเดิมที่เคยชี้เบาะแสไว้แล้ว หาก กกต.วินิจฉัยว่าเป็นไปตามที่ร้องก็สามารถเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคตามมาตรา 92(3) ได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 66)
Tags: การเมือง, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, ปิยบุตร แสงกนกกุล, พรรคเพื่อไทย, สนธิญา สวัสดี, สภาผู้แทนราษฎร, สิทธิมนุษยชน, เลือกตั้ง