นายโตชิฮิโระ นากาฮามา นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานของรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เขาคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยุติการใช้นโยบายควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในปีนี้ หากพบว่าความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งรวมถึงวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารทั่วโลกนั้น เริ่มลดน้อยลง
นายนากาฮามาซึ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วมบรรยายพิเศษในการประชุมนโยบายเศรษฐกิจของรัฐสภาญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมานั้นกล่าวว่า ญี่ปุ่นจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการยกเลิกนโยบายสนับสนุนด้านการเงินและการคลังก่อนกำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าสัญญาณบ่งชี้เชิงบวกเกี่ยวกับค่าแรงและการอุปโภคบริโภคมีความยั่งยืน
“BOJ จะต้องชะลอการปรับเพิ่มเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น จากปัจจุบันที่ระดับ -0.1% จนกว่าจะมีหลักฐานชัดเจนว่าค่าแรงจะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีหน้า อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ต้นทุนการกู้ยืมระยะสั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำ BOJ อาจจะยกเลิกเพดานอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 0.5% โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากเกินไป”
“ผมคาดว่า BOJ อาจจะรอจนกว่าความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารทั่วโลกและภาวะชะงักงันของการเจรจาเพดานหนี้ในสหรัฐเริ่มผ่อนคลายลง ทันทีที่ความเสี่ยงเหล่านี้ลดน้อยลงและตลาดเริ่มสงบลง BOJ ก็อาจจะปรับแนวทางการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน และผมจะไม่ประหลาดใจเลย หากเรื่องนี้จะเกิดขึ้นในปีนี้” นายนากาฮามากล่าว
ที่ผ่านมานั้น BOJ ได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันเงินเฟ้อให้เคลื่อนไหวที่ระดับเป้าหมาย 2% อย่างยั่งยืน ด้วยการตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% และให้คำมั่นว่าจะคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีเอาไว้ที่ระดับประมาณ 0% ภายใต้นโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC)
อย่างไรก็ดี ในการประชุมเมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว BOJ ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลญี่ปุ่นให้เคลื่อนไหวในช่วง -0.5% ถึง +0.5% จากเดิมที่ -0.25% ถึง +0.25% ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกในตลาดเงินและถูกมองว่า BOJ กำลังส่งสัญญาณยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (ultraloose monetary policy)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 66)
Tags: BOJ, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, บอนด์ยีลด์, รัฐบาลญี่ปุ่น, เศรษฐกิจญี่ปุ่น, โตชิฮิโระ นากาฮามา