นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก เตือนพรรคก้าวไกล ไม่ควรปล่อยให้ตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” หลุดไปอยู่ในมือของพรรคการเมืองอื่น ชี้ตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันนโยบายต่างๆ ที่ พรรคก้าวไกล ได้หาเสียงไว้กับประชาชน อีกทั้งยังเป็นความชอบธรรมตามกฎหมาย ที่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร จะต้องมาจากพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 1
“ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ตำแหน่งที่พรรคก้าวไกล เสียไปไม่ได้เป็นอันขาด
โดยทั่วไป ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็มาจาก ส.ส.ของพรรคอันดับที่หนึ่งอยู่แล้ว กรณีสมัยที่แล้ว เป็นข้อยกเว้นอย่างยิ่ง เพราะจำนวน ส.ส.ซีกรัฐบาลมีมากกว่าอีกฝ่ายไม่กี่เสียง ทำให้พรรคพลังประชารัฐ ต้องยอมเสียตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแลกกับการสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
“ในเมื่อครั้งนี้ ใครๆ ต่างก็บอกว่า ประสงค์จะให้การเมืองไทยกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ดังนั้นกฎเกณฑ์ในการเมืองไทยที่ใช้กันในสภาวะปกติก็ต้องถูกนำมาปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก รัฐบาลรวมเสียงได้กว่า 300 เสียง ก็ถือว่ามากพอแล้ว รวมไปถึง ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฏร ต้องมาจาก ส.ส.ของพรรคอันดับ 1”
นายปิยบุตร ยังชี้ว่า นโยบายของพรรคก้าวไกล ที่ใช้รณรงค์หาเสียงจนได้คะแนนมากกว่า 14 ล้านเสียง หลายเรื่องต้องผลักดันผ่านสภา ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ จึงจำเป็นต้องมี ส.ส.ของพรรคตนเองทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคุมวาระและญัตติ
โดยเฉพาะกรณีการนิรโทษกรรม ในคดีความผิดเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไข ป. อาญา มาตรา 112 ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้ไม่อยู่ใน MOU และไม่อยู่ในวาระร่วมหรือนโยบายของรัฐบาล พรรคก้าวไกล ก็ต้องใช้ “กลไกสภา” ในการผลักดัน หากไม่ได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมา ก็อาจประสบปัญหาอุปสรรคได้ อีกทั้งพรรคก้าวไกลต้องมีคนของตนเองทำหน้าที่ประธานภาผู้แทนราษฎร เพื่อคุมเกม ใช้และตีความข้อบังคับการประชุม และกำหนดทิศทางในการประชุม เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
นายปิยบุตร ระบุว่า ในการเจรจาต่อรองเพื่อกำหนดเนื้อหาใน MOU ได้ผ่านพ้นไปด้วยดี เห็นได้ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลได้ถอยในหลายประเด็น จนเหลือแต่ประเด็นที่ทุกพรรคยอมรับได้ และยอมเพิ่มอีกหลายข้อความ เพื่อให้ทุกพรรคคลายความกังวลและสบายใจมากขึ้นแล้ว เมื่อถึงคราวจัดสรรกระทรวงให้แต่ละพรรค พรรคก้าวไกลก็คงต้องยินยอม “เฉือน” อีกหลายกระทรวงให้กับพรรคอื่นๆ เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ โดยเฉพาะกระทรวงที่สังคมจัดให้เป็นเกรด A โดยพิจารณาจากงบประมาณ และโครงการ “เป็นเนื้อเป็นหนัง”
เมื่อถึงช่วงเขียนนโยบายของรัฐบาลเพื่อแถลงต่อสภา พรรคก้าวไกล ก็ต้องประสานเอาความต้องการของทุกพรรคเข้ามาไว้ด้วยกัน สภาพการประนีประนอม การเจรจาต่อรอง ระหว่างพรรคการเมือง และการยอมถอยให้พรรคการเมืองอื่น จะดำเนินเช่นนี้เรื่อยไปตลอดระยะเวลาของรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องประหลาดในทางการเมือง และเป็นเรื่องปกติในรัฐบาลผสม
“ปัญหามีอยู่ว่า พรรคก้าวไกลจะต้องถอยจนถึงเมื่อไร ต้องยินยอมถึงขนาดไหน เพื่อให้ทุกพรรคพอใจและตั้งรัฐบาลได้? และไปต่อได้? ผมเห็นว่าการประนีประนอม การเจรจาต่อรองของพรรคก้าวไกล จะต้องไม่ไปถึงขนาดที่ยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับ ส.ส.พรรคอื่น
การประนีประนอม และการเจรจาทางการเมือง เป็นเรื่องเข้าใจได้ในการตั้งรัฐบาลผสม แต่การ “ถอย” ถึงขนาดยอมยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้พรรคอื่น เป็นเรื่องเข้าใจไม่ได้ หวังว่าพรรคก้าวไกลจะพิจารณาประเด็นนี้ให้ถ้วนถี่” นายปิยบุตร ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ค. 66)
Tags: การเมือง, ปิยบุตร แสงกนกกุล, พรรคก้าวไกล, สภาผู้แทนราษฎร