โควิดยังน่าห่วง! สธ. เตือนยอดผู้ป่วย-เสียชีวิตเพิ่ม ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุยังไม่ได้วัคซีน

กรมควบคุมโรค เผยสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้นมาก เตือนประชาชนไม่ประมาท ป้องกันตัวเองจากโรคโควิด-19 เร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง เสียชีวิตเพราะไม่เคยได้รับวัคซีนหรือไม่ฉีดเข็มกระตุ้น พร้อมแนะกลุ่ม 608 หากป่วยและผลตรวจ ATK เป็นบวก ให้รีบไปรักษาและรับยาต้านไวรัส

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ปัจจุบันผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในสัปดาห์ที่ 20 (วันที่ 14-20 พ.ค. 66) พบจำนวนผู้เสียชีวิต 64 ราย เฉลี่ยวันละ 9 ราย ส่วนใหญ่อายุมาก 70 ปีขึ้นไป และไม่ยอมรับวัคซีน กลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงเป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 401 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 226 ราย ซึ่งไม่ได้รับวัคซีน

จากรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 14-20 พ.ค. 66 ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) จำนวน 2,632 ราย เฉลี่ย 376 ราย/วัน ผู้ป่วยสะสม 15,069 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 66) ส่วนผู้เสียชีวิต (รายสัปดาห์)

จำนวน 64 ราย : เฉลี่ยรายวัน จำนวน 7 ราย/วัน

ขณะที่สัปดาห์ก่อน (7-13 พ.ค. 66) พบผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) จำนวน 2,356 ราย เฉลี่ย 337 ราย/วัน เสียชีวิต 22 ราย เฉลี่ยวันละ 2 ราย

ส่วนกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรง พบว่า เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปี และส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนหรือบางรายพบฉีดวัคซีนเพียง 2 เข็ม แต่ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ทำให้ระดับภูมิคุ้มกันหมู่ในประชากรลดลงมาก สายพันธุ์ที่พบการระบาดเป็นสายพันธุ์ใหม่/สายพันธุ์ย่อยอื่นจากต่างประเทศ มีการระบาดเพิ่ม ทั้งในเมืองและชนบท ตามมาด้วยจำนวนผู้ป่วยอาการหนักที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบการระบาดลักษณะเป็นกลุ่มก้อนในกลุ่มวัยทำงาน นักเรียน และในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น มีการกระจายของผู้ป่วยในหลายจังหวัด จังหวัดที่ยังคงพบผู้ป่วยได้สูงที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร รองลงมา ได้แก่ ชลบุรี สมุทรสาคร

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ในระยะนี้หลังเปิดภาคเรียนพบการระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มเด็กนักเรียน โดยเฉพาะชั้นประถมศึกษา ต้องขอความร่วมมือให้ครูประจำสถานศึกษาเข้มงวดมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคในโรงเรียนตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด หากพบเด็กนักเรียนป่วยจำนวนมาก อาจให้มีการหยุดเรียนเป็นรายห้องเรียน หรือชั้นเรียน โดยไม่จำเป็นต้องปิดโรงเรียน และแจ้งสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ หรือศูนย์บริการสาธารณสุข ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคโดยเร่งด่วน

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้โรคโควิด-19 จะแพร่ระบาดมากว่า 3 ปี แต่ขอย้ำว่าการป้องกันตัวเองส่วนบุคคลยังคงเป็นมาตรการป้องกันการรับและแพร่เชื้อได้อยู่ โดยเน้นย้ำการใส่หน้ากากอนามัยในที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ล้างมือบ่อยๆ และเข้ารับวัคซีนโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยง 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์) ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีน

สำหรับประชาชนผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง แนะนำให้เข้ารับ LAAB ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ได้ที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลภาครัฐสังกัดอื่น

ทั้งนี้ หากมีอาการป่วยที่เข้าได้กับโรคโควิด-19 ให้ตรวจ Antigen Test Kit (ATK) และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้อื่น กลุ่ม 608 หากป่วยและผลตรวจ ATK เป็นบวก ให้รีบเข้ารับการรักษา เน้นให้ทุกสถานพยาบาลเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งส่งตรวจหาสายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ในผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต

ด้านนพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ตัวเลขผู้ป่วยโควิดรอรับเข้าโรงพยาบาลกลับเพิ่มมากขึ้นใหม่ นอกจากจะเป็นผู้ใหญ่กลุ่มเปราะบางแล้ว เริ่มมีผู้ป่วยเด็กให้เห็นประปรายด้วย ในภาพรวมประเทศสัปดาห์ล่าสุดที่ 20 ของปี ยังมีการเพิ่มขึ้นไปต่อของยอดผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ โดยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ 19 ก่อนหน้าราว 12%, 26%, และ 39% ตามลำดับ ส่วนยอดผู้เสียชีวิตซึ่งพุ่งตามหลังมาเพิ่มขึ้นไปถึง 200% ที่ต้องระวังคือ ยอดผู้ป่วยอาการหนักสะสมรวมเข้าใกล้แนวรับศักยภาพตึงมือภาคการแพทย์ที่ 500 คนแล้ว และผู้เสียชีวิตก็ใกล้จะถึงแนวรับที่ 10 คนต่อวันแล้วเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ค. 66)

Tags: , , , ,