อีสานโพล (E-Saan Poll) เผยผลสำรวจเรื่อง “รัฐบาลในฝันของคนอีสานหลังการเลือกตั้ง” โดยคนอีสานส่วนใหญ่ 73.7% รู้สึกมีความหวังหลังรู้ผลการเลือกตั้ง และสนับสนุนให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีมากสุด ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนให้พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคเป็นธรรม ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล แต่เกินครึ่งคาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจะมีเสียงโหวตจาก ส.ว.ไม่เพียงพอ และเกือบครึ่งประเมินว่ามีโอกาส 50/50 ที่จะเกิดเหตุการณ์ที่กระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และกว่า 1 ใน 3 พบการซื้อเสียงด้วยตัวเอง
โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 46.0% เลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย รองลงมา 37.4% เลือกพรรคก้าวไกล, 5.5% เลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ, 4.9% เลือกพรรคภูมิใจไทย, 1.6% เลือกพรรคไทยสร้างไทย, 1.2% เลือกพรรคพลังประชารัฐ, 1.1% เลือกพรรคประชาธิปัตย์, 0.9% เลือกพรรคเสรีรวมไทย และอื่นๆ 1.4%
สำหรับผู้ที่อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด ซึ่งเลือกจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองมี ส.ส.จำนวน 25 คนขึ้นไป อันดับหนึ่ง คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 45.1% รองลงมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร 37.7% อันดับสาม นายเศรษฐา ทวีสิน 5.9% ตามมาด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 4.4%, นายอนุทิน ชาญวีรกุล 3.9%, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 1.0%, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ 0.5% และอื่นๆ/ไม่แน่ใจ 1.5%
ส่วนพรรคการเมืองที่มีความเหมาะสมในการร่วมจัดตั้งรัฐบาล อันดับหนึ่งคือ พรรคเพื่อไทย 93.0% รองลงมาพรรคก้าวไกล 90.8% ตามมาด้วยพรรคไทยสร้างไทย 87.7% พรรคเสรีรวมไทย 87.5% พรรคประชาชาติ 78.4% พรรคเป็นธรรม 78.2% พรรคภูมิใจไทย 14.7% พรรคประชาธิปัตย์ 11.7% พรรคพลังประชารัฐ 10.2% พรรครวมไทยสร้างชาติ 9.9% และพรรคชาติพัฒนากล้า 9.4%
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 62.0% คาดว่าจะมีจำนวน ส.ว.ช่วยโหวตให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยสามารถร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่เพียงพอ แต่อีก 38.0% คาดว่าจะมีเสียง ส.ว.โหวตให้เพียงพอ ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 45.0% คิดว่ามีโอกาส 50/50 ที่พรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกลจะถูกยุบพรรค หรือนายพิธาจะขาดคุณสมบัติก่อนที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่อีก 44.9% คิดว่ามีโอกาสน้อยมาก ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่าง 10.1% คิดว่ามีโอกาสสูง
ส่วนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กลุ่มตัวอย่าง 44.1% เห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำให้เสร็จภายใน 2 ปี รองลงมา 43.8% เห็นว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำให้เสร็จภายใน 4 ปี และ 12.1% เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำในช่วง 4 ปีนี้
ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่าง 41.4% ไม่พบเจอการซื้อเสียงในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ แต่คนในชุมชนเล่าให้ฟังว่าได้เงิน รองลงมา 32.3% พบเจอด้วยตัวเอง และ 26.3% ไม่พบเจอและไม่ทราบว่ามีการซื้อเสียงในชุมชน
ทั้งนี้ อีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในภาคอีสาน 20 จังหวัดเรื่อง “รัฐบาลในฝันของคนอีสานหลังการเลือกตั้ง” หลังจากพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำรวบรวมเสียง 6 พรรค ได้ ส.ส.ร่วมจัดตั้งรัฐบาลจำนวน 309 เสียง ระหว่างวันที่ 16-18 พ.ค.66 มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ 99% และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ 4%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ค. 66)
Tags: ก้าวไกล, ผลสำรวจ, พรรคก้าวไกล, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, อีสานโพล, เลือกตั้ง