4 เดือนแรก ต่างชาติลงทุนในไทย 3.8 หมื่นลบ. เพิ่มขึ้น 6% ญี่ปุ่นสูงสุด

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานว่าในเดือนเม.ย. 66 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 43 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 13 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 30 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,654 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 487 คน ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์

ขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกปี 2566 (ม.ค. – เม.ย.) ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 217 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 69 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 148 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 38,702 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 2,419 คน

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 55 ราย (คิดเป็น 25%) เงินลงทุน 14,024 ล้านบาท สิงคโปร์ 35 ราย (16%) เงินลงทุน 4,854 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 34 ราย (15%) เงินลงทุน 1,725 ล้านบาท จีน 14 ราย (6%) เงินลงทุน 11,230 ล้านบาท สมาพันธรัฐสวิส 11 ราย (5%) เงินลงทุน 1,692 ล้านบาท และอื่นๆ 68 ราย (33%) เงินลงทุน 5,177 ล้านบาท

รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี อันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานสลิงและอุปกรณ์ช่วยยกในงานขุดเจาะปิโตรเลียม, องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า, องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของระบบการให้บริการรายการโทรทัศน์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet Protocol Television : IPTV), องค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาในการใช้งานยางล้ออากาศยาน และองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการแก้ไขปัญหาเครื่องอัดอากาศ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย 217 ราย เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการลงทุน 38,702 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจ้างงานคนไทย 2,419 คน เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ ญี่ปุ่น

โดยธุรกิจที่ได้รับอนุญาตในช่วงเดือนม.ค. – เม.ย.66 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ

– บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย

– บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ เชื่อมระบบ และการเปิดใช้งาน ตลอดจนการบริหารจัดการ สำหรับโครงการรถไฟฟ้า

– บริการก่อสร้าง รวมทั้ง ติดตั้งและทดสอบเกี่ยวกับการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก

– บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น เช่น การให้คำปรึกษาและแนะนำเชิงเทคนิค การแก้ไขปัญหาด้านเทคนิค รวบรวมข้อมูลด้านเทคนิค เป็นต้น

– บริการกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มกลางสำหรับซื้อ-ขายสินค้า

– บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งให้บริการแก่กิจการของวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ

ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 4 เดือนแรกปี 2566 (ม.ค. – เม.ย.) มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 43 ราย คิดเป็น 20% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 7,521 ล้านบาท คิดเป็น 19% ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 17 ราย ลงทุน 2,816 ล้านบาท, จีน 8 ราย ลงทุน 725 ล้านบาท, ฮ่องกง 3 ราย ลงทุน 2,920 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ อีก 15 ราย ลงทุน 1,058 ล้านบาท

ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1) บริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการบริหารจัดการกระบวนการการผลิต ด้านการบริหารจัดการคุณภาพสินค้า และด้านการบริหารจัดการระบบการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ 2) บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การออกแบบเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือและอุปกรณ์ 3) บริการรับจ้างผลิตเครื่องจักร และชิ้นส่วนเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรม 4) บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ และ 5) การค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อค้าส่งในประเทศ เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ค. 66)

Tags: , , ,