บมจ.การบินไทย (THAI) เดินหน้าเพิ่มเครื่องบิน แอร์บัส เอ350 จำนวน 4 ลำเพื่อเร่งรุกตลาดจีน-ญี่ปุ่น มั่นใจปี 66 รายได้โตเป็น 1.3-1.4 แสนล้านบาท ก่อนเพิ่มขึ้นแตะ 1.5-1.6 ล้านบาทในปี 67 พร้อมกำเงินสดในมือกว่า 4 หมื่นล้านบาทเตรียมจ่ายหนี้ตามแผนฟื้นฟูเริ่มงวดแรกกลางปี 67 ราว 8 พันล้านบาท และเดินหน้ายุบ “ไทยสมายล์” ปีนี้ทยอยโอนเครื่องบิน 20 ลำเข้าสมทบในฝูงบินใหญ่เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้เครื่องบิน ส่งข่าวดีขึ้นเงินเดือน 5%ให้พนักงานบริษัทสิ้นเดือน พ.ค.นี้ตอบแทนหยาดเหงื่อช่วยบริษัทพลิกทำกำไรในไตรมาส 1/66 พร้อมเดินหน้าโครงการ MRO
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI เปิดเผยว่า บริษัทได้เช่าเครื่องบินแอร์บัส เอ350 จำนวน 11 ลำ ซึ่งจะทยอยรับมอบในช่วงปี 66-67 โดยในปีนี้จะรับมอบเครื่องบิน 4 ลำ โดย 1 ลำจะเข้ามาในเดือน พ.ค. จากนั้นในเดือน มิ.ย.จะรับอีก 1 ลำ ซึ่งจะเริ่มนำเข้าสมทบในเข้าฝูงบินเดือน ก.ค. ส่วนอีก 2 ลำจะรับมอบในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.66
บริษัทจะนำเครื่องบินใหม่ที่รับมอบเข้ามาเพื่อรองรับตลาดจีนและญี่ปุ่นเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเมืองสำคัญ ได้แก่ กวางเจา เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ที่จะปรับเป็นบินทุกวัน เริ่ม 1 ก.ค. นี้ ส่วนโตเกียว (นาริตะ) เพิ่มเป็น 21 เที่ยว/สัปดาห์ จาก 14 เที่ยวบิน/ สัปดาห์ และโอซาก้า เพิ่มเป็น 14 เที่ยวบิน/สัปดาห์ จากเดิม 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ รวมถึงเตรียมเพิ่มเที่ยวบินในยุโรปในไตรมาส 4/66 รับไฮซีซั่นด้วย
ส่วนปี 67 จะรับมอบอีก 7 ลำรองรับตลาดเอเชียเหนือและยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักและทำรายได้ได้ดี โดยต้นปี 67 คาดจะกลับมาบินไปยังเมืองออสโลว์และมิลาน
ปัจจุบัน บริษัทมีเครื่องบิน 45 ลำ ซึ่งเป็นเครื่องลำตัวกว้าง และ ไทยสมายล์ 20 ลำเป็นเครื่องบิน เอ320 เป็นเครื่องบินลำตัวแคบ รวมเป็น 65 ลำ
ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้จากตลาดยุโรป 38% เอเชียเหนือ 33% ออสเตรเลีย 10% เอเชียใต้ 12% และสิงคโปร์ จาการ์ตา กัวลาลัมเปอร์ 7% โดยคาดว่าตลาดเอเชียเหนือจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ THAI กล่าวเสริมว่าในปีนี้ จะเน้นการเพิ่มความถี่ในเมืองที่ทำรายได้ดี ทั้งในยุโรป จีน และญี่ปุ่น จากนั้นต้นปี 67 จะกลับมาบินไปยังออสโลว์และมิลานที่เคยทำรายได้ให้การบินไทย โดยในช่วง 66-67 จะไม่เปิดทำการบินจุดบินใหม่ แต่รอให้ออกจากแผนฟื้นฟูก่อนจะมีการปรับกลยุทธ์ เปิดเส้นทางบินใหม่ และการเพิ่มจำนวนเครื่องบินขึ้นอีก
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI กล่าวต่อว่า ผลประกอบการในไตรมาส 1/66 มีกำไรสุทธิ 1.25 หมื่นล้านบาท พลิกจากขาดทุน 3,246 ล้านบาท ดีกว่าแผนอย่างมาก บริษัทเชื่อว่าผลประกอบการที่ดีขึ้นจะช่วยสร้างมูลค่าหุ้น THAI และมีผลดีในการนำเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน และการแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้ และจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นดีขึ้น โดย ณ สื้นไตรมาส 1/66 ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 58,503 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากไตรมาส 1/65 ที่ติดลบ 74,486 ล้านบาท
โดยหากเจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุนทั้งหมดจะเป็นผู้ถือห้นสัดส่วนประมาณ 30% ส่วนกระทรวงการคลังแปลงหนี้เป็นทุนทั้งหมด จะถือหุ้นไม่เกิน 44% ที่เหลือจากนักลงทุนรายย่อย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คาดว่า ปี 66 บริษัทจะมีรายได้ 1.3-1.4 แสนล้านบาท ภายใต้คาดการณ์จำนวนผู้โดยสาร 9 ล้านคน Cabin Factor 77-78% และในปี 67 เพิ่มเป็น 1.5-1.6 แสนล้านบาท จำนวนผู้โดยสาร 12 ล้านคน Cabin Factor ราว 80% รวมทั้ง มั่นใจว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้ภายในปี 67
นายชาย กล่าวว่า แนวโน้มไตรมาส 2/66 เป็นช่วงโลว์ซีซั่น คาดว่า Cabin Factor จะอยู่ที่ราว 77% ลดลงจากไฮซีซั่นในไตรมาสแรกที่ 83.5% ส่วนในไตรมาส 3/66 ก็ยังเป็นโลว์ซีซั่น ก่อนจะกลับมาดีขึ้นในไตรมาส 4/66 เข้าช่วงไฮซีซั่นอีกครั้ง อย่างไรก็ตามในยุโรปยังเห็นสัญญาณจองตั๋วล่วงหน้าเข้ามาบ้างแล้ว ส่วนจีนรอความชัดเจนหลังเปิดประเทศ เชื่อว่าในไตรมาส 2/66 น่าจะเต็มทุกสายการบิน โดยตลาดจีนขณะนี้ capacity กลับมาเพียง 10-15% ของปี 62
นายชาย ยังกล่าวว่า บริษัทได้ปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเฉลี่ย 5% ในสิ้นเดือนพ.ค.นี้ เพื่อตอบแทนพนักงานที่ทำงานหนักช่วยให้บริษัททำกำไรได้มาก ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเงินเดือนในรอบ 10 ปี
“ขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเพราะพนักงานเหนื่อยมามากที่ทำให้การบินไทยกลับมาดีขึ้น ก็เป็นการเรียกขวัญและกำลังใจ”
นายชาย กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการปรับโครงสร้างบริษัทโดยยุบรวมไทยสมายล์ภายในปีนี้ ซึ่งบริษัทเตรียมเสนอคณะกรรมการเจ้าหนี้ในสัปดาห์หน้า หากให้ความเห็นชอบ ก็จะทำการโอนเครื่องบิน เอ 320 ทั้ง 20 ลำกลับเข้าฝูงบินการบินไทยภายในปีนี้ โดยยกเลิกสัญญาเช่าช่วง ซึ่งมีขั้นตอนขออนุญาตกับกระทรวงคมนาคม และจะไม่มีรหัสทำการบิน WE ของไทยสมายล์ อีกต่อไป
การปรับโครงสร้างดังกล่าวจะสามารถปิดขาดทุนที่ไทยสมายล์ โดยจะสามารถเพิ่มการใช้งานเครื่องบินได้มากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายด้วย
“การปรับโครงสร้างช่วยเรื่อง Economy of Scale เป็นส่วนสำคัญ ทำให้มีอำนาจต่อรองการจัดซื้อได้มากขึ้น ส่วนการให้บริการของไทยสมายล์ก็ยังเหมือนเดิม เขาก็ยังมีแฟนคลับ “
นายชาย กล่าว
ในไตรมาส 1/66 การบินไทยมีเงินสดในมือ 4.2 หมื่นล้านบาท นายชาย กล่าวว่า บริษัทเตรียมพร้อมสำหรับการนำไปชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูที่มีมูลหนี้รวม 1.4 แสนบ้านบาท (เจ้าหนี้ 6 กลุ่ม) โดยจะเริ่มจ่ายงวดแรกให้เจ้าหนี้การค้า 8 พันล้านบาทและจะสิ้นสุดการชำระหนี้ในปี 77 ที่เป็นหนี้หุ้นกู้งวดสุดท้าย ขณะที่หนี้บัตรโดยสาร (Refund) ที่มีอยู่กว่า 1 หมื่นล้านบาทได้ชำระไปแล้ว 80-90% และคาดจะชำระหมดภายในไตรมาส 4/66
ขณะที่ บริษัทยังเหลือทรัพย์สินที่รอการขาย ได้แก่ เครื่องบิน 12 ลำ เป็นโบอิ้ง 777-200 จำนวน 6 ลำ และ แอร์บัส เอ380 จำนวน 6 ลำ ส่วนโบอิ้ง 777-300 จำนวน 6 ลำเพิ่งขายได้อยู่ระหว่างทำสัญญา และยังมีอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ สำนักงานที่เชียงใหม่และพิษณุโลก ส่วนในต่างประเทศ ได้แก่ สำนักงานและบ้านพักในอังกฤษ สำนักงานในปีนังและฮ่องกง
“เรายังขายสินทรัพย์ตามแผน เพราะเราอยู่ธีม Transformation โมเดลธุรกิจเปลี่ยนไป เราไม่จำเป็นต้องกลับมามีทรัพย์สินที่มีต้นทุนดูแล ซ่อมแซม”
นายชาย กล่าว
นายวิโรจน์ ปิยะวิโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่สายกลยุทธ์ THAI กล่าวว่า บริษัทยังเดินหน้าโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ตามที่ได้รับสิทธิในการดำเนินการจากมติคณะรัฐมนตรี โดยล่าสุดได้เข้าหารือกับเลขา สกพอ. เพื่อหารือแนวทางการดำเนินการ บนพื้นที่ 200 ไร่ในเขต EEC พร้อมไปกับการศึกษาโครงการที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 66 ซึ่งบริษัทมีความพร้อมในการลงทุนด้วยตัวเอง
ก่อนหน้านี้ การบินไทยมีแผนจะร่วมทุนกับแอร์บัสในโครงการ MRO แต่เมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 จนบริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ก็ทำให้แผนงานดังกล่าวต้องยุติไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ค. 66)
Tags: THAI, การบินไทย, หุ้นสายการบิน, หุ้นไทย