คลื่นความร้อน (Heatwave) ยังคงเป็นประเด็นที่ปรากฏให้เห็นได้ทุกปี แต่ในช่วงนี้ดูจะใกล้ตัวเป็นพิเศษ เพราะคนไทยน่าจะเผชิญกับอากาศร้อนระอุกันถ้วนหน้า หันหน้าไปทางไหนก็มีแต่คำว่าร้อน ซึ่งบางคนอาจยกให้ร้อนที่สุดเท่าที่เคยเจอเลยก็ได้
อากาศที่ร้อนจัดเช่นนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่คิดไปเอง เพราะนอกจากไทยแล้ว ก็ยังมีอีกหลายประเทศในเอเชียที่ต้องทนร้อนเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียนอย่างลาวและเวียดนาม ซึ่งต่างร้อนทุบสถิติใหม่ในช่วงนี้ จากที่ช่วงนี้ของปีอากาศก็ร้อนจัดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
คลื่นความร้อนรุนแรงส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วเอเชีย โดยน่าจะได้เห็นอีกหลายประเทศในเอเชียที่ร้อนทำสถิติใหม่ เมื่อประเทศทางตอนเหนือของเอเชียเปลี่ยนจากฤดูใบไม้ผลิไปเป็นฤดูร้อนในอีกไม่กี่เดือนที่จะถึง ส่งสัญญาณให้เห็นชัดเจนว่านี่คือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต่างเร่งหาวิธีช่วยเหลือประชาชนและบรรเทาผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อนรุนแรงเช่นนี้ ซึ่ง In Focus สัปดาห์นี้ขอพาผู้อ่านไปติดตามวิกฤติคลื่นความร้อนที่ยังดุเดือดไม่แผ่วลงทั่วภูมิภาคของเรา
ลาวร้อนปรอทแตก ทำสถิติใหม่ทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ลาวเผชิญกับอากาศที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์แตะ 43.5 องศาที่หลวงพระบาง ทุบสถิติเดิมของลาวที่ 42.7 องศาซึ่งเพิ่งทำสถิติดังกล่าวไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้เอง
นอกจากนี้ ลาวยังมีคืนที่ร้อนเป็นประวัติการณ์ในวันเดียวกันที่เมืองท่าแขกของจังหวัดคำม่วนซึ่งร้อนถึง 31.8 องศา ส่วนนครหลวงเวียงจันทน์ก็ร้อนจัดเช่นกัน ทุบสถิติใหม่ของเมืองที่ 42.5 องศา และยังมีอีกหลายเมืองตั้งแต่ทางภาคเหนือไล่ไปถึงภาคใต้ของลาวที่ร้อนทำสถิติใหม่ในเดือนนี้ เช่น 34.5 องศาที่จังหวัดพงสาลีเหนือสุดของประเทศ และ 41.3 องศาที่เมืองปากเซทางตอนใต้ของลาว
ฮีตเวฟสะเทือนเวียดนาม ร้อนจัดทำสถิติใหม่ตามกัน
ประเทศเพื่อนบ้านของลาวอย่างเวียดนามก็ทำสถิติร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ในวันเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม เมืองเติงเซือง จังหวัดเหงะอาน ทางตอนเหนือของเวียดนาม ร้อนจัด 44.2 องศา ทำสถิติใหม่เป็นประวัติการณ์ของเวียดนาม ทุบสถิติเดิมที่เพิ่งทำไปเมื่อวันก่อนหน้านี้เอง ขณะที่ทางการเวียดนามก็ได้ขอให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านในช่วงที่ร้อนที่สุดของวัน และสั่งการให้หน่วยงานที่ดูแลเรื่องไฟฟ้าและประปาประสานงานกันอย่างเต็มที่เพื่อให้ประชาชนผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดูแลไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ
สภาพอากาศของเวียดนามค่อนข้างแตกต่างกันตั้งแต่เหนือจรดใต้ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแนวยาว แต่ก็ถือได้ว่าร้อนเกินปกติทั่วประเทศ โดยเกษตรกรต้องเริ่มทำงานเร็วกว่าปกติและพยายามทำงานให้เสร็จก่อนช่วงสาย ๆ เพื่อไม่ให้ต้องเจอกับแดดร้อนในช่วงเที่ยง ส่วนประชาชนตามเมืองใหญ่ ๆ ก็เลี่ยงออกนอกบ้านในช่วงกลางวันเพราะไม่อยากเจอกับความร้อน
ด้านผู้เชี่ยวชาญของเวียดนามมองว่า วิกฤติดังกล่าวน่ากังวลมากเมื่อประเมินในแง่ปัญหาโลกร้อน และเชื่อว่าเวียดนามจะร้อนทำสถิติใหม่อีกต่อจากนี้
เมียนมาร้อนสุดในรอบเกือบ 60 ปี เดือดร้อนทั้งในเมืองและชนบท
เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา เมียนมาเผชิญกับอากาศร้อนที่สุดในรอบเกือบ 60 ปีในบางเมืองของประเทศ โดยเมืองแห่งหนึ่งในรัฐมอญทางตอนใต้ของเมียนมามีอุณหภูมิแตะ 43 องศา ร้อนที่สุดในรอบ 58 ปี ขณะที่เมืองแห่งหนึ่งในรัฐพะโคทางตอนกลางของประเทศมีอุณหภูมิแตะ 42.7 องศา ร้อนที่สุดในรอบ 59 ปี
ปกติแล้ว เดือนเมษายนและพฤษภาคมจะเป็นช่วงร้อนที่สุดของเมียนมาอยู่แล้ว ก่อนที่เมียนมาจะเข้าสู่ฤดูฝน โดยสถิติร้อนที่สุดของเมียนมาอยู่ที่เดือนพฤษภาคม ปี 2562 ซึ่งร้อนแตะ 44.2 องศาที่เมืองมัณฑะเลย์
ผู้พลัดถิ่นบางส่วนต้องหนีร้อนไปหลบในป่า ทำให้เสี่ยงต่อสุขภาพเพราะบริเวณนั้นไม่มีสถานที่ให้ดูแลสุขภาพ จะซื้อยาก็ราคาแพง ราคาน้ำดื่มก็พุ่งสูงขึ้นด้วย แต่ก็ต้องซื้อเพราะหาแหล่งน้ำดื่มได้ค่อนข้างยาก เพราะหมู่บ้านหลายแห่งถูกรัฐบาลทหารทำลายจนกลับมาอยู่ไม่ได้
ขณะที่ชาวเมืองเองก็เดือดร้อนไม่แพ้กัน เพราะเมียนมาขาดแคลนไฟฟ้าใช้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งกระทบทั้งประเทศแม้แต่เมืองใหญ่อย่างย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ โดยข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า เมียนมามีอัตราการเข้าถึงระบบไฟฟ้าต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการที่มีครัวเรือนเพียง 50% ที่เชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าสาธารณะ
ในฝั่งของการผลิตไฟฟ้าก็ได้รับผลกระทบจากภัยร้อน เนื่องจาก 40% ของไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศมาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แต่เมื่อประเทศเผชิญกับภัยร้อนก็ทำให้กำลังการผลิตลดลง ขณะที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติบางส่วนถูกสั่งระงับการผลิตไฟฟ้า เพราะก๊าซแพง
มาเลเซียหวั่นเจอฮีตเวฟยาวยันเดือนหน้า เตรียมดูแลน้ำไม่ให้ขาดแคลน
ทางการมาเลเซียได้ประกาศเตือนภัยคลื่นความร้อนในหลายรัฐเมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งปกติแล้วจะมีการประกาศดังกล่าวเมื่ออุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ยแล้วเกิน 37 องศาติดต่อกัน 3 วัน โดยปีนี้มาเลเซียเผชิญกับอากาศร้อนทำสถิติสูงสุดที่ 38.4 องศาเมื่อวันที่ 22 เมษายน เมื่อเทียบกับสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 40.1 องศา เมื่อเดือนเมษายน ปี 2541
ด้านกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซียได้สั่งไม่ให้โรงเรียนทำกิจกรรมกลางแจ้ง ขณะที่ผู้ปกครองบางส่วนหวังให้โรงเรียนกลับมาเปิดการเรียนการสอนแบบออนไลน์อีกครั้งในช่วงที่อากาศร้อนจัดเช่นนี้
นอกจากนี้ การผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศที่ผลิตน้ำมันปาล์มมากเป็นอันดับต้น ๆ อย่างมาเลเซียอาจเสี่ยงได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะบางพื้นที่อาจมีฝนตกน้อยลง ทั้งยังต้องคอยเฝ้าระวังไฟป่าและมลภาวะทางอากาศด้วยเช่นกัน
เตรียมรับมือ “เอลนีโญ” ในปีที่อาจทำสถิติร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก
แม็กซิมิเลียโน เฮอร์เรรา (Maximiliano Herrera) ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ @extremetemps ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับอุณหภูมิตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกว่า วิกฤติความร้อนครั้งนี้นับว่ารุนแรงมากเป็นอันดับต้น ๆ เท่าที่โลกใบนี้เคยเผชิญมา โดยมีประเทศที่ร้อนทำสถิติใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า สอดคล้องกับที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนคาดการณ์ไว้ว่า ปีนี้อาจเป็นปีที่ร้อนที่สุดในโลก
นักภูมิอากาศวิทยากล่าวว่า โลกเราอาจได้บันทึกสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยใหม่ในปี 2566 หรือ 2567 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการเกิดปรากฏการณ์สภาพอากาศแบบเอลนีโญ (El Nino)
แบบจำลองสภาพภูมิอากาศบ่งชี้ให้เห็นว่า หลังจากเกิดปรากฏการณ์ลานีญา (La Nina) ในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วทำให้อุณหภูมิโลกลดต่ำลงเล็กน้อย โลกก็จะเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในปีนี้
ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญนั้น กระแสลมที่พัดไปทางทิศตะวันตกตามแนวเส้นศูนย์สูตรจะเคลื่อนตัวช้าลง และกระแสน้ำอุ่นจะถูกพัดให้ไหลไปทางตะวันออก ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรอุ่นขึ้น
ที่ผ่านมานั้น ปีที่อุณหภูมิโลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์จนถึงตอนนี้คือปี 2559 ซึ่งตรงกับการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น แม้ไม่มีปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดขึ้นก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการสะสมกันของก๊าซเรือนกระจก ซึ่งน่าจะทำให้โลกของเราเผชิญกับความร้อนรุนแรงในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ภัยคลื่นความร้อนที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตรจนทำให้อากาศร้อนทะลุปรอทนี้ กำลังส่งสัญญาณที่อาจจะไม่น่ายินดีนักให้กับประเทศที่อยู่ไกลออกไปก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ
สภาวะที่ร้อนระอุเช่นนี้นับเป็นบททดสอบศักยภาพของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในการปกป้องประชาชน พร้อมคุ้มครองภาคเกษตรกรรมและการผลิตไฟฟ้าในประเทศที่ยังคงฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะด้วยการลงทุนพัฒนาพลังงานหมุนเวียน พัฒนาระบบเตือนภัยคลื่นความร้อน และให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ
อย่างไรก็ดี เวลาของพวกเราลดน้อยลงทุกวัน โดยผลการวิจัยเมื่อปีที่ผ่านมาคาดว่า ก่อนหมดศตวรรษนี้โลกของเราอาจเผชิญกับคลื่นความร้อนมากขึ้นกว่าเดิม 3-10 เท่าตัว ขณะที่จำนวนวันที่ร้อนรุนแรง (51 องศาขึ้นไป) อาจเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวด้วย ทำให้ชาวโลกอยู่เฉยไม่ได้ เพราะนับวันปัญหาดังกล่าวมีแต่จะรุนแรงขึ้น ทุกฝ่ายจึงควรร่วมมือร่วมใจกันจัดการกับปัญหาตั้งแต่ต้นตอ เพื่อสร้างอนาคตที่เย็นขึ้นให้กับทุกคน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ค. 66)
Tags: Heatwave, In Focus, คลื่นความร้อน, สภาพอากาศ, อากาศร้อน, อาเซียน